ต้องขอเกริ่นก่อนค่ะว่า ดรีมได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์มาตั้งแต่ช่วงเดือน กันยายน ปี 2565 แล้วค่ะ ซึ่งในขณะนั้นดรีมต้องการจะจัดทำหนังสือตำราเป็นของตนเอง เพื่อเตรียมเปิดคอร์สสอนอ่านไพ่ในอนาคต แต่ทว่าผ่านมา 2 ปีแล้วงานเขียนตำราก็ไม่ค่อยจะเดินหน้าเท่าไหร่ สารภาพตามตรงว่ายังไม่ได้รู้สึกมีไฟที่จะเขียนหนังสือ รู้ตัวเองเลยว่าในตอนนี้ยังไม่ได้จริงจังกับงานสอน 555 ก็เลยพับโครงการเก็บไว้ค่ะ แต่เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์นั้นดรีมเขียนจนจบแล้ว (เพราะเป็นบทแรกในหนังสือของดรีม) จึงตั้งใจที่จะนำมาเปิดเผยในเว็บบล็อกส่วนตัวเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆคน ที่ต้องการจะศึกษาที่มาที่ไปของต้นกำเนิดไพ่ทาโรต์ค่ะ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับทุกคนได้อย่างถูกต้องนะคะ หากผิดพลาดประการใด ตกหล่อนอะไรไป ต้องขออภัยไว้ด้วยนะคะ :D
ยุคถือกำเนิด
ย้อนกลับไปราวศตวรรษที่ 2 กระดาษถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน และมันจะกลายมาเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกในเวลาต่อมา เนื่องจากกระดาษคือเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้สำหรับจดบันทึกเหตุการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และใช้สำหรับการสื่อสาร จนมนุษย์มีความสะดวกในการศึกษาหาความรู้และติดต่อกันได้ง่ายขึ้นทำให้มีความก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ นั่นเองค่ะ สำหรับกระดาษที่คิดค้นขึ้นจากจีนจะเป็นต้นแบบของกระดาษที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบัน แม้ว่ากระดาษปาปิรุส (Papyrus) จะเป็นกระดาษชนิดแรกของโลก แต่เพราะมันทำมาจากต้นกกปาปิรุสที่พบได้เฉพาะแถบแม่น้ำไนล์ในประเทศอียิปต์มันจึงไม่เป็นที่นิยมในชนชาติอื่นๆ สักเท่าไหร่
แม้ประเทศจีนจะเป็นผู้คิดค้นต้นแบบของกระดาษขึ้นมา แต่ก็คาดว่าอาจจะรู้กันเพียงวงแคบๆ เท่านั้น มีหลักฐานการค้นพบกระดาษที่เก่าแก่กว่า 140 ปีก่อนคริสตกาล แต่ราวๆ ค.ศ 105 กรรมวิธีของการทำกระดาษได้ถูกทูลถวายให้กับจักรพรรดิโฮโดยขุนนางที่ชื่อว่า ไช่หลุน ดังนั้นคาดว่าเขาอาจไม่ใช่ผู้คิดค้นกระดาษเป็นคนแรก กรรมวิธีการผลิตกระดาษมีมานานกว่านั้น แต่ไช่หลุนคงเป็นเพียงแค่คนที่รู้กระบวนการและนำเสนอ หลังจากนั้นเขาถูกแต่งตั้งจึงรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการผลิต แต่อย่างไรก็ตามกรรมวิธีการทำกระดาษยังถูกเก็บงำเป็นความลับภายในประเทศจีนอีกหลายร้อยปี
จนเมื่อสงครามทาลัส (Battle of Talas) ได้เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ 751 อันเป็นสงครามระหว่างราชวงศ์ถังของจีนและราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ของอาหรับ ทั้งสองเข้าห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก (เส้นทางสายไหม) ดังนั้นเมื่อราชวงศ์ถังพ่ายแพ้ ฝ่ายผู้ชนะจึงได้มีการเกณฑ์เชลยจากประเทศจีนเข้าสู่โลกอาหรับ และพบว่าในบรรดาเชลยทั้งหมดมีช่างทำกระดาษเป็นจำนวนมาก กระดาษจึงเริ่มเริ่มแพร่หลายในโลกอาหรับหรือดินแดนมุสลิมตะวันออกกลาง ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ ก่อนที่ในยุคต่อมาสงครามครูเสด (Crusades) จะทำให้กรรมวิธีการทำกระดาษถูกเผยแพร่เข้าสู่ยุโรปเป็นวงกว้างต่อไป
เมื่อมนุษย์รู้จักการทำกระดาษมันไม่เพียงแต่เป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับการจดบันทึกเท่านั้น หากแต่ถูกดัดแปลงให้เป็นการการละเล่นเพื่อความบันเทิงอีกด้วย เราพบหลักฐานเกี่ยวกับเกมส์การ์ดที่ปรากฏเป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานในโลกอาหรับ มันเป็นไพ่ที่มีทั้งหมดสี่ชุดคือ ดาบโค้ง ไม้โปโล ถ้วย และเหรียญ โดยแต่ละชุดจะมีตัวเลข 1-10 กำกับ เราเรียกมันว่า Pips card แต่ยังมีไพ่อีกชุดหนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างจากพวก มันเป็นไพ่บุคคลประกอบไปด้วยราชา อุปราช และรองอุปราช เราเรียกมันว่าไพ่ Court Cards แต่จะเห็นได้ว่าไพ่บุคคลไม่ปรากฏว่ามีเพศหญิงเลย คาดว่าเพราะโลกอาหรับในยุคสมัยนั้นคือสังคมชายเป็นใหญ่ หรืออาจเป็นข้อสันนิฐานที่ว่าเกมส์การ์ดชนิดนี้อาจเป็นที่นิยมเฉพาะในเหล่าเพศชาย เลยไม่จำเป็นจะต้องให้มีเพศหญิงปรากฏบนไพ่ และไพ่ในยุคนั้นไม่ได้มีการวาดหรือลงสีโดยตรงบนกระดาษ หากแต่เป็นการใช้บล็อกไม้ที่ตกแต่งลวดลายมาอย่างดีทาด้วยหมึก แล้วค่อยประทับหมึกลงบนไพ่ให้เกิดลวดลายสวยงาม เกมส์การ์ดดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า "Mamluk" ตามชื่อของศุลต่านที่ปกครองโลกอาหรับในขณะนั้น
ในปีค.ศ 1370 ไพ่มัมลุคเริ่มเข้าสู่ประเทศอิตาลีและสเปน แม้ว่าสงครามครูเสดจะจบลงตั้งแต่ปี ค.ศ 1291 แต่ยุโรปและโลกอาหรับยังมีการติดต่อกันอยู่ บางส่วนก็ยังคงทำการค้ากัน ดังนั้นเกมส์การ์ดอย่างไพ่มัมลุคจึงเริ่มแผ่ขยายเข้าสู่ยุโรปด้วย หลังจากนั้นไม่นานก็เป็นที่นิยมในหลายพื้นที่ จึงได้มีการดัดแปลงไพ่มัมลุคให้เข้ากับวัฒนธรรมของชาวยุโรปมากขึ้น โดยเปลี่ยนไม้โปโลให้เป็นเพียงไม้เท้า(Wands) และได้มีการปรับตัวละครในไพ่ไพ่ Court Card ให้กลายเป็นราชา ราชินี อัศวิน และมหาดเล็ก คำว่ามัมลุคถูกเรียกให้คุ้นปากชาวยุโรปมากขึ้นจึงถูกเรียกว่าไพ่ “Mooris” หรือ “Saracen”
ด้วยสังคมยุโรปในสมัยนั้นยังคงอยู่ในช่วงยุคกลาง (Middle Ages) ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคมืด คริสต์จักรมีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คนจนเรียกได้ว่าเป็นการครอบงำทางความคิดทีเดียว ดังนั้นการละเล่นไพ่ที่ได้รับความนิยมก็ถูกจับตามองด้วย ไม่เพียงแค่นั้นยังถูกสั่งห้ามถูกประณามจากประสันตะปาปาว่าเป็นการละเล่นที่ไร้สาระพาให้ผู้คนออกห่างจากพระเจ้า แต่นักประวัติศาสตร์บางทันก็มองว่าที่ถูกสั่งห้ามอาจมาจากการที่ผู้คนใช้พาในเชิงการพนันขันต่อซึ่งผิดหลักจารีตเสียมากกว่า
ผ่านไปนานพอสมควรจนเมื่อราวๆ ค.ศ. 1422 ด้วยไอเดียบรรเจิดของ “Duke Filippo Maria Visconti” แห่งมิลานในประเทศอิตาลี เขาได้แรงบันดาลใจจากไพ่ที่เป็นเกมส์การ์ด เขาอยากพัฒนามันให้กลายมาเป็นไพ่สำหรับสอนหลักคุณธรรมในเชิงเปรียบเทียบเปรียบเปรยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จึงได้มอบหมายให้เลขาของเขา “Maurizio da Tortona” ผู้ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักโหราศาสตร์ช่วยคิดค้นและออกแบบไพ่มานำเสนอ เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้นเขาจึงได้คิดค้น “Trionfi” ซึ่งภายหลังมันจะถูกเรียกว่า Trump cards ในภาษาอังกฤษ ในส่วนของการวาดภาพและลงสีจะเป็นหน้าที่ของจิตรกรที่ชื่อว่า “Michelino da Besozzo”
Trionfi จึงกลายมาเป็นไพ่ชุดหลักที่เพิ่มเติมเข้ามา โดยในแต่ละใบจะวาดเป็นภาพของเทพเจ้ากรีก ในส่วนของ Maurizio da Tortona เขาก็ได้เขียนหนังสือคู่มือประกอบการใช้งานเอาไว้ด้วย แต่ไพ่ชุดนี้ก็มีไว้สำหรับเป็นการสอนหลักคุณธรรมให้ชนชั้นสูงในยุคนั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามไพ่สำรับดังกล่าวก็นับว่าเป็นไพ่ที่มาพร้อมคู่มือการใช้งานสำรับแรกของโลก แม้จะยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์แต่มันจะเป็นต้นแบบของไพ่ทาโรต์ในยุคต่อไปค่ะ
“Francesco Sforza” คนที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ไพ่ทาโรต์ในอนาคต เราพบว่าเมื่อปี ค.ศ 1441 เขาได้แต่งงานกับ “Bianca Visconti” หรือพูดกันแบบง่ายๆ เขาแต่งงานกับลูกสาว Duke Filippo Maria Visconti นั่นเองค่ะ ซึ่งการแต่งงานของทั้งสองตระกูลนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ไพ่ทาโรต์ในยุคต่อมาอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพราะเขาเป็นลูกเขยที่ต้องตามใจพ่อตาอย่างเดียว หากแต่ว่าทั้งพิธีแต่งงาน สัญลักษณ์เกี่ยวกับภายในตระกูล หรือเรื่องราวของบุคคลที่เป็นเครือญาติกันต่างถูกใช้สอดแทรกในไพ่สำรับถัดไปด้วยนั่นเอง ในเวลาต่อมา Duke Filippo ก็ได้มีการว่าจ้าง “Bonifacio Bembo” ให้รับหน้าที่เป็นจิตรกรดูแลในส่วนของงานวาดและการลงสีไพ่สำรับใหม่สองสำรับคือ “Brera-Brambilla” และอีกสำรับคือ “Carey-Yale” เป็นสำรับพิเศษที่ลงสีไพ่ด้วยสีทอง มีมนต์ขลัง สวย คลาสสิคตลอดกาล
“ค.ศ 1442 จากบันทึกของ Leonello d'Est ระบุว่าเขามีการซื้อไพ่ Trionfi จำนวนสองสำรับจากพ่อค้าโดยใช้จำนวนเงินไม่มาก ทำให้เรารู้ว่าหลังจากปี ค.ศ 1423 ผ่านมาเกือบ 20 ปีให้หลังไพ่เป็นสิ่งที่สามารถซื้อหาได้ง่ายโดยทั่วไป และมีผลิตจำนวนมาก”
หลังจากประสบความสำเร็จในการวางขายไพ่สำรับก่อนหน้า Duke Filippo ก็ได้ไอเดียสำหรับการสร้างไพ่สำรับใหม่อีกครั้ง และบทบาทของพ่อตาและลูกเขยจะเริ่มต้นที่ตรงนี้ ในปี ค.ศ 1450 พวกเขาได้ออกผลงานชิ้นโบว์แดง นั่นก็คือคือไพ่ที่มีชื่อว่า “Pierpont Morgan Bergamo” แต่ผู้คนนิยมเรียกสั้นๆ แค่ “Visconti-Sforza” ซึ่งมาจากจากนามสกุลของทั้งสองตระกูลนั่นเองค่ะ แน่นอนว่าไพ่สำรับล่าสุดนี้ยังคงเอกลักษณ์ด้วยการลงสีไพ่ด้วยสีทองเช่นเดิม และได้มีการเพิ่มไพ่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏจากสำรับไหนมาก่อนเพื่อให้ไพ่ชุดหลักอย่าง Trionfi มีครบ 22 ใบ ผลปรากฏว่ามันฮิตสุดๆ ได้รับความนิยมอย่างมากในอิตาลี แต่จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่ชนชั้นสูงหรือเหล่าขุนนาง
จากไพ่มัมลุคเกมส์การ์ดเพื่อความสนุกสนาน สู่ไพ่เพื่อการสอนคุณธรรมของชนชั้นสูง ก่อนจะได้รับความนิยมในฐานะเกมส์การ์ดอีกครั้ง ซึ่งวิธีการเล่นดังกล่าวจะเรียกกันว่า “Game of Triumphs” และเปลี่ยนมาเรียกสั้นๆว่า “Trumps” ในเวลาต่อมาค่ะ เกมส์การ์ดดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องอีกหลายสิบปีโดยเฉพาะที่เมืองมิลาน, เฟอร์เรรา, เวนิส และโบโลญญา
ในปี ค.ศ 1491 ไพ่สำรับ “Sola Busca” ก็ได้กำเนิดขึ้น เป็นไพ่ที่มีครบทั้งหมด 78 ใบที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และมีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างไพ่ชุดเล็กและไพ่ชุดใหญ่ เป็นครั้งแรกที่ Pips Card หรือไพ่ชุดเล็กมีภาพประกอบเป็นของตนเอง ในขณะเดียวกันไพ่ชุดหลักหรือไพ่ชุดใหญ่ก็มีการดีไซน์โครงสร้างไพ่ให้แตกต่างจากสำรับที่ได้รับความนิยมอย่าง Visconti-Sforza อีกด้วย จากที่ไพ่สำรับก่อนหน้ามักจะใส่เทวตำนานผ่านภาพวาดรูปเคารพของเทพเจ้ากรีก แต่ไพ่สำรับ Sola Busca ไม่อิงกับความขนบเก่าๆ และได้เปลี่ยนภาพวาดบนไพ่ให้กลายเป็นบุคคลสำคัญตามพระคัมภีร์ไบเบิล วีรบุรุษชาวโรมัน และทหารชั้นสูงต่างๆ แทน รวมไปถึงมีการดีไซน์ให้ใน Trumps Card กำกับด้วยตัวเลขโรมัน ในขณะที่ Pips Card กำกับเป็นเลขอารบิกแทน แต่จากข้อมูลที่ค้นหาเพิ่มเติมกลับไม่มีที่มาหรือหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง ยังคงเป็นที่ถกเถียงและค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆ มีนักประวัติศาสตร์คาดเดากันมากมาย แต่ทว่าก็ไม่ได้ข้อสรุป ด้วยชื่อของไพ่เป็นชื่อตระกูลขุนนางในมิลานเป็นได้ว่ามันอาจถูกสร้างขึ้นในเฟอร์ราราประเทศอิตาลี แต่ผู้สร้างไพ่ระดับตำนานสำรับนี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป หากแต่ในเวลาต่อมามันจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ British Museum ในฐานะผลงานศิลปะทางประวัติศาสตร์ และจะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ไพ่ทาโรต์สำรับ Rider Waite Smith ต่อไปนั่นเองค่ะ
ค.ศ 1494 เริ่มเกิดสงครามระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศฝรั่งเศสอันเป็นสงครามที่จะมีความยืดเยื้ออย่างมากจากนี้ สังเกตมั้ยคะว่าสงครามที่ผ่านๆ มาตั้งแต่สงครามแย่งชิงเส้นทางสายไหมระหว่างประเทศจีนและโลกอาอาหรับ หรือสงครามครูเสดการต่อสู้ทางศาสนาระหว่างโลกอาหรับและยุโรปเอง ข้าวของเครื่องใช้ ผลผลิต และองค์ความรู้มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอด แม้จะมีความสูญเสียจากสงครามก็ตาม และใช่ค่ะนักประวัติศาสตร์คาดกันว่าเกมส์การ์ดชนิดนี้จะถูกเผยแพร่ไปยังฝรั่งเศสเพราะสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานนี้เองค่ะ
ในปี ค.ศ 1500 มีการอ้างอิงถึงไพ่สำรับ “Minchiate” ซึ่งประกอบไปด้วยไพ่ทั้งหมดถึง 97 ใบ เพราะมีการดีไซน์ไพ่เพิ่มเติมด้วยการใส่สัญลักษณ์ของธาตุทั้งสี่และโหราศาสตร์ 12 ราศีเข้าไปด้วย ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวมเอาปรัชญาทางโหราศาสตร์ผสมผสานกับไพ่ค่ะ ความน่าสนใจของสำรับนี้คือไพ่ Ace มีเค้าโครงที่คล้ายคลึงกับไพ่ในยุคปัจจุบันมาก เนื่องจากไพ่ Ace of Wands และ Ace of Swords ปรากฏเป็นมือยื่นจับไม้เท้าและดาบยกเว้นไพ่ Cups และ Coins ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกจากสัญลักษณะประจำชุด แต่ไพ่สำรับนี้ก็ไม่เป็นที่นิยม
ในช่วงหลังศตวรรษที่ 15 ไพ่ในประเทศอิตาลีจะไม่ได้รับการพัฒนาไปสักพักใหญ่ๆ ดังนั้นไพ่สำรับ Sola Busca จึงถือกันว่าเป็นไพ่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดที่ยังมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน และเป็นสำรับที่จะส่งท้ายความรุ่งโรจน์ของไพ่ในยุคเริ่มต้นค่ะ แต่เกมส์การ์ดจะถูกนำไปพัฒนาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสค่ะ ดังนั้นในศตวรรษที่ 16-17 นี้เองที่ไพ่จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงได้รับการพัฒนาอย่างมากในประเทศฝรั่งเศส เราจะได้เห็นเค้าโครงของไพ่ที่ใกล้เคียงกับไพ่ในยุคปัจจุบันมากขึ้น ตามดรีมมาอ่านหัวข้อถัดไปได้เลยนะคะ ❤
ยุคฟื้นฟูศิลปะ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 นี้เองค่ะ คำว่า “Tarocchi” คือชื่ออย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศสที่ใช้เรียกเกมส์การ์ดแทนคำว่า Triumphs หรือ Trumps เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฏการเล่นใหม่ที่ต่างจากเดิมมาก ดังนั้นเพื่อจะได้แยกแยะถูกไม่ปะปนกับการเล่นเกมส์การ์ดแบบเก่าๆ การเปลี่ยนชื่อเรียกคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าค่ะ แต่คำว่า Tarocchi เองไม่ได้ปรากฏว่ามันเป็นคำของภาษาใด ละตินก็ไม่ใช่ อียิปต์ก็ไม่เชิง ฮิบรูก็เปล่า จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ค่ะ
หลังจากเกมส์การ์ดได้แพร่กระจายไปยังประเทศฝรั่งเศส หลายปีต่อมาไพ่ก็ได้ถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนตามสมัยนิยม มีไพ่ชนิดใหม่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส สัญลักษณ์เดิมอย่างไม้เท้า ถ้วย ดาบ เหรียญ ถูกปรับให้กลายเป็นโพดำ โพแดง ข้ามหลามตัด ดอกจิก และกลายมาเป็นต้นแบบของไพ่ป๊อกหรือไพ่ Poker ในปัจจุบัน ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเดิม กล่าวคือก็ยังคงสัญลักษณ์ไม้เท้า ถ้วย ดาบ เหรียญเช่นเดิม ดังนั้นจึงมีไพ่ทางเลือกมากมายทั้งแบบสมัยใหม่และสมัยเก่าที่ถูกผลิตขึ้นในฝรั่งเศส และมีการแยกสายการเล่นกันอย่างชัดเจน
จากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) มนุษย์กลับมาให้ความสนใจในศิลปะและวิทยาการอีกครั้ง ความรู้ต่างๆ ที่เคยถูกกีดหรือถูกตีตราว่าเป็นศาสตร์นอกรีตในยุคกลาง (Middle Ages) หรือที่เคยถูกประณามต่อต้านจากคริสตจักร ยุคที่พระสันตะปาปามีอำนาจครอบงำชักจูงผู้คนก็ได้ผ่านพ้นไป ผู้คนพยายามที่จะหาหลักฐานหรือแหล่งเรียนรู้จากยุคโบราณอีกครั้ง และนั่นรวมถึงศาสตร์การพยากรณ์ด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องการก้าวข้ามความเข้าใจเดิมๆ สู่องค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อความเจริญทางปัญญาและความก้าวหน้าทางวิทยาการ ในยุคนั้นจึงกำเนิดเหล่านักปราชญ์ทั้งทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังและเป็นตำนานมากมายเลยล่ะค่ะ
ขึ้นชื่อว่าฝรั่งเศสดินแดนแห่งศิลปะและแฟชั่น ไม่แปลกเลยใช่มั้ยล่ะคะที่ไพ่จะถูกพัฒนาในหลายๆ รูปแบบแม้ Tarocchi จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในฐานะเกมส์การ์ด แต่ในห้วงเวลาเดียวกัน ไพ่ก็ถูกใช้สำหรับการพรรณนาโวหาร มีการแต่งโคลงกลอนหรือบทกวีจากภาพหน้าไพ่ และมันได้รับความนิยมในฐานะความบันเทิงชนิดหนึ่งไม่ต่างจากเกมส์การ์ดแบบปกติเลยล่ะค่ะ หากแต่การแต่งบทกวีจากไพ่ยังเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มในหมู่ชนชั้นสูงของประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะบทกวีโคลงกลอนต่างๆ ถูกใช้ในแง่ของการชมเชยยกยอปอปั้นบุคคลสำคัญมากกว่า แต่เมื่อสามารถตีความภาพเพื่อแต่งกวีได้ ก็เริ่มมีการใช้ไพ่สำหรับการพยากรณ์จากภาพด้วยเช่นกัน โดยให้มีการตั้งคำถามและแปลจากภาพบนไพ่เลย ไพ่จึงเริ่มถูกใช้ในการทำนายทายทักอย่างไม่เป็นทางการนัก ซึ่งใน ค.ศ 1540 ก็มีการตีพิมพ์เผยแพร่ภาพไพ่ทาโรต์ลงในหนังสือหมอดูสมัยนั้นที่มีชื่อว่า “Le Sorti” แต่หลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้ไพ่ในทางการพยากรณ์ที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ จะเป็นบันทึกจากเมืองโบโลญญาประเทศอิตาลีค่ะ เพราะเนื้อหาที่พิมพ์ลงใน Le Sorti ยังไม่ได้มีการแนะนำอะไรที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อย่างเป็นทางการนัก
ข้ามไปศตวรรษที่ 17 ไพ่สำรับ “Tarot of Marseilles” ถือว่าเป็นไพ่มาตราฐานในกระแสความนิยมหลักของหมู่นักเล่นไพ่ประเทศฝรั่งเศส ในตอนแรกนักประวัติศาสตร์เข้าใจว่าไพ่สำรับนี้มีจุดกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส แต่ในศตวรรษที่ 20 ได้มีการขุดค้นเจอหลักฐานของต้นแบบไพ่ Tarot of Marseilles เพราะมีลักษณะภาพวาดที่ใกล้เคียงกันหลายอย่าง คาดว่าไพ่ต้นแบบน่าจะถูกสร้างขึ้นราวๆ ค.ศ 1500 พวกเขาค้นพบไพ่เหล่านี้ที่ก้นบ่อน้ำของปราสาท Sforza ในมิลานประเทศอิตาลี บางส่วนก็พบในหนังสือต่างๆ จึงสันนิฐานว่าน่าจะมีการค้นย้ายไพ่บางส่วนผ่านพ่อค้าเพื่อการค้าขายระหว่างอิตาลี-ฝรั่งเศส หรืออาจเป็นทหารในช่วงสงครามอิตาลีที่นำไพ่เข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสไว้เล่นแก้เบื่อในช่วงทำสงคราม
ในส่วนของไพ่ Tarot of Marseilles จะมีส่วนสำคัญในการเป็นมาตรฐานของไพ่ที่ยังคงขนบเก่าแก่ศิลปะแบบอิตาลีเอาไว้ และยังเป็นต้นแบบของไพ่ทาโรต์ในยุคปัจจุบันด้วย ตัวไพ่เองได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลายเวอร์ชั่น ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกถูกผลิตเมื่อปี ค.ศ 1650 โดย “Jean Noblet” แต่สำรับที่ได้รับความนิยมคือ “Tarot of Marseilles” ที่ถูกผลิตในปี ค.ศ 1709 และ “Chosson of Marseille” ในปี ค.ศ 1736
บรรพบุรุษของไพ่ Tarot of Marseilles เชื่อกันว่ามาจาก “The Cary Sheet” ซึ่งไพ่เป็นไพ่ที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงยุค ค.ศ 1500 ค้นพบที่ก้นบ่อน้ำของปราสาท Sforza และน่าจะถูกค้นยายผ่านทหารของอิตาลีเข้าสู่ฝรั่งเศส ในช่วงสงครามอิตาลี แม้มันจะดูขาดความสมบูรณ์ แต่ก็พอจะเห็นว่ามันอิงกับระบบไพ่ตามขนบของอิตาลี เพราะใช้สัญลักษณ์ดาบ ไม้ ถ้วย เหรียญ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกับไพ่ Visconti-Sforza ในยุคสมัยเดียวกันที่มีความหรูหรากว่าเพราะใช้งานโดยชนชั้นสูง นักประวัติศาสตร์มองว่า The Cary Sheet อาจจะมีไว้สำหรับผู้มีรายได้น้อยก็เป็นได้
ผ่านมาอีกหลักร้อยปีราว ค.ศ 1740 ที่เมืองโบโลญญาประเทศอิตาลี ได้พบบันทึกที่ถูกเขียนโดย “Pratesi” มันเป็นกระดาษเพียงแผ่นเดียวแต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหมายไพ่ “Tarocco Bolognese” ในเชิงการทำนายจำนวน 35 ใบ มีการแนะนำวิธีการใช้งานโดยให้แยกไพ่เป็นจำนวน 5 กอง กองละ 7 ใบ แต่ไม่ได้มีการบรรยายว่าหลังจากนั้นให้ทำอย่างไรต่อ จึงยังไม่ถือว่านี่คือจุดเปลี่ยนในเส้นทางการพยากรณ์ไพ่ในกระแสหลักนะคะ เพราะเราพึ่งค้นพบบันทึกนี้มันเมื่อศตวรรษที่ 20 หรือในยุคปัจจุบันนี่เอง และเราไม่พบหลักฐานใดว่าบันทึกนี้มีส่วนเปลี่ยนแปลงสำคัญในเส้นทางการพยากรณ์ แต่มันได้กลายมาเป็นหลักฐานที่เป็นทางการและมีความเก่าแก่เกี่ยวกับกับเนื้อหาแนะนำการใช้ไพ่ในเชิงการพยากรณ์ ที่สำคัญมันทำให้เราพบว่าแม้ในยุคนั้นเกมส์การ์ดจะได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศฝรั่งเศส แต่ที่ประเทศอิตาลีเองก็มีการแตกสายการเล่นไพ่และให้ความสนใจไปในทางการพยากรณ์ด้วยเหมือนกัน
สำหรับไพ่ Tarocco Bolognese เป็นไพ่แบบสองหัวเหมือนกับ Tarocco Piemontese ซึ่งมันถูกผลิตขึ้นในเมืองโบโลญญาประเทศอิตาลี ดังนั้นหลังจากผ่านมามากกว่าสองศตวรรษไพ่ทาโรต์ได้ถูกพัฒนาในอิตาลีอีกครั้ง และมันจะถูกนำไปเป็นต้นแบบไพ่ในยุคสมัยใหม่ในยุโรป ที่จะได้รับความนิยมจนเขี่ยให้ Tarot of Marseilles ตกกระป๋อง กลายเป็นว่าไพ่ Marseilles จะถูกใช้เป็นการละเล่นเฉพาะกลุ่มมากกว่า
ราวๆ ปี ค.ศ 1750 ไพ่ “Tarock” ถูกผลิตขึ้นที่ประเทสฝรั่งเศส อันมีต้นแบบจาก Tarocco ของประเทศอิตาลีค่ะ และตั้งแต่นั้นผู้คนนิยมเล่นเกมส์การ์ดที่มีสองหัวมากกว่า คุ้นมั้ยคะว่าความนิยมนี้จะถูกนำไปใช้กับบรรพบุรุษของไพ่ป๊อกนั่นเอง ดังนั้นประวัติศาสตร์ของไพ่ทาโรต์และไพ่ป๊อกก็มีความทับซ้อนให้เห็นกันอยู่บ้างค่ะ
ยุคเปลี่ยนผ่านและจุดหักเหสำคัญของไพ่ทาโรต์
และแล้วในปี ค.ศ 1770 “Jean-Baptiste Alliette” ก็ได้เขียนหนังสือคู่มือการพยากรณ์ดวงชะตาด้วยตนเองชื่อว่า “A Way to Entertain Oneself with a Pack of Cards” ซึ่งเขาเรียกศาสตร์การพยากรณ์ด้วยไพ่ว่า “Cartomancy” ส่วนผู้พยากรณ์หรือหมอดูไพ่ก็จะแทนตัวเองด้วยคำเรียกว่า “Cartomancers” ดังนั้น Jean-Baptiste Alliette คือบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ของโลกที่ปรากฏตัวเป็นนักพยากรณ์ด้วยไพ่อย่างเป็นทางการ แต่ในขณะนั้นเขาใช้ไพ่ Piquet ซึ่งเป็นบรรพุบุรษของไพ่ป๊อกในการพยากรณ์ดวงชะตา และนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ไพ่เพื่อการพยากรณ์อย่างเปิดเผย
“จนกระทั่งใน ค.ศ 1780 ได้มีการแยกสายกันอย่างชัดเจน ในหมู่ผู้เล่นระหว่างไพ่เพื่อการพยากรณ์ และไพ่ที่เป็นเกมส์การ์ดเพื่อความสนุกสนาน”
ไพ่ทาโรต์ยุคสมัยใหม่จะมีจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เพราะมันจะถูกตีความใหม่จากผู้เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เพื่อเชื่อมโยงไพ่กับองค์ความรู้อันลึกลับ หลังจากนี้ไพ่ทาโรต์ในเส้นทางการพยากรณ์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และพัฒนาขึ้นโดยใช้ไพ่ Tarot of Marseilles อันเป็นต้นแบบเพื่อคงโครงสร้างที่เก่าแก่เอาไว้อย่างที่ดรีมได้อธิบายว่าในยุคสมัยนั้นผู้คนนิยมเล่นเกมส์การ์ดแบบ 2 หัว ไพ่ Taroch ฮิตติดลมบนมากกว่า ดังนั้นเกมส์การ์ดสมัยเก่าจึงเสื่อมความนิยมไป แทบไม่มีใครใช้สำรับ Tarot de Marseille เพื่อความสนุกสนานอีก
ย้อนกลับไปนิดนึงในปี ค.ศ 1775 ที่งานเลี้ยงแห่งหนึ่งมีผู้นำไพ่สำรับ Tarot of Marseilles เข้ามาในงาน แต่ไม่รู้แน่ว่าเป็นไพ่ในเวอร์ชั่นไหน เขาอธิบายรายละเอียดและการใช้งานต่างๆ ให้แก่ผู้มาร่วมงาน แต่ทว่าแขกท่านหนึ่งในค่ำคืนนั้นคือ “Antoine Court de Gebelin” ในบันทึกของเขากล่าวว่าครั้งแรกที่เห็นมัน เขาจำได้ทันทีว่าไพ่ทาโรต์เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ลึกลับของอียิปต์โบราณ และเขาเชื่ออย่างสุดใจว่าไพ่ทาโรต์คือ “Book of Thoth” คัมภีร์ในตำนานที่เขียนขึ้นโดยเทพธอธ (Thoth) เทพแห่งปัญญาในอารยธรรมไอย์คุปต์ คัมภีร์ที่แฝงไปด้วยปรัชญา เวทมนตร์ และองค์ความรู้จากอียิปต์ หากใครสามารถที่จะทำความเข้าใจมันได้ก็จะเข้าถึงความรู้อันลึกซึ้งที่สูญหายไป เขาเชื่อว่ามันอยู่ตรงหน้าเขาแต่มันแค่ถูกเปลี่ยนจากคัมภีร์ให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ในไพ่ อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคิดเห็นอย่างไรกับความเชื่อนี้คะ? แต่อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นตรงนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้เป็นไพ่ทาโรต์ที่เราคุ้นเคยกันอย่างทุกวันนี้ค่ะ เป็นไปได้อย่างไรน่ะเหรอตามมาอ่านกันต่อเลยค่ะ!
“ที่ไหนที่เป็นที่ของเรา ที่นั่นเราจะมีตัวตน”
ประโยคนี้ไม่เกินจริงค่ะเพราะไพ่สำรับ Tarot of Marseilles แม้จะไม่เป็นที่นิยมในฐานะเกมส์การ์ดในยุคนั้นอีกแล้ว แต่เมื่อได้ตกไปอยู่ในมือของ Antoine Court de Gebelin ผู้เชี่ยวชาญไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับชาวฝรั่งเศส (เนื่องจากเขาอยู่ในสมาคมลับที่ศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ ไสยศาสตร์ การเล่นแร่แปรธาตุ โหราศาสตร์ และคับบาลาห์) ไพ่ทาโรต์สำรับเขากลับกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในรูปของสัญลักษณ์ ที่เก็บซ่อนองค์ความรู้ทางปัญญาโบราณทันที ในปี ค.ศ 1781 Antoine Court de Gebelin ก็ได้เขียนเนื้อหาการเชื่อมโยงไพ่กับตัวอักษรฮิบรู ศาสตร์คับบาลาห์ และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอียิปต์โบราณ ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “Le Monde Primitif” เขากล่าวอ้างว่า “Tarot” มาจากภาษาฮิบรู เขายังระบุอีกว่าไพ่ทาโรต์คือปรัชญาหรือความลึกลับเก่าแก่ของชาวอียิปต์โบราณ
แต่ไม่ได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดที่จะช่วยยืนยันแนวคิดของเขาได้จริง บรรพบุรุษของไพ่ถูกออกแบบใหม่ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) จากประเทศอิตาลีสู่ประเทศฝรั่งเศส จึงไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าไพ่ในยุคแรกเริ่มได้รับอิทธิพลจากอารยะธรรมไอย์คุปต์ หรือมีการสอดแทรกแนวคิดแบบ Kabbalistic หรือ Hermetic อยู่เลย กลับกันไพ่ถูกพัฒนาในยุโรป ทำให้ตัวบรรพบุรุษไพ่ในยุคหลังๆ มีการสอดแทรกภาพวาดของตำนานปกรณัมกรีก-โรมัน หรือบุคคลสำคัญในคริสต์ศาสนาเสียมากกว่า ดังนั้นภาพที่ปรากฏในไพ่ Trumps หรือไพ่ชุดใหญ่ก็ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรก เพื่อใช้สอนศีลธรรมจรรยาให้กับคนชนชั้นสูงเท่านั้น
ประกอบกับเป็นความเข้าใจผิดที่ซ้ำซ้อนของเขา เกริ่นก่อนว่าในยุคกลาง (Middle Ages) ยุคที่คริสตจักรเรืองอำนาจสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือจากความศรัทธาในพระเจ้าจะถูกกล่าวหาว่านอกรีตทั้งโหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือแม้แต่ตำนานเทพเจ้าแบบพหุเทววิทยา พวกเขาต้องการให้เราเคารพพระเจ้าอันเป็นเอกเทวนิยมแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจากภัยสงครามและจากการต่อต้านของคริสตจักรหนังสือต่างๆ ถูกเผาทำลาย องค์ความรู้ ภูมิปัญญาโบราณได้สูญหายไป แต่มีคนพยายามรวบรวมเอาเนื้อหาเกี่ยวกับโหราศาสตร์ การเล่นแร่แปรธาตุ และพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาใหม่ ในนามปากกาว่า “Hermes Trismegistus” มีตำนานมากมายเกี่ยวกับตัวเขา แต่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปหรือหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของของเขาอย่างแท้จริง
หากแต่ว่าในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) ผู้คนเริ่มกลับมาให้ความสนใจศาสตร์โบราณอีกครั้ง บันทึกของเขาถูกค้นพบ และศาสตร์ “Hermetic” ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในศตวรรษที่ 18 ถูกสอนต่อๆ กันในสมาคมลับ ดังนั้นประการแรกพวกเขาจึงเข้าใจผิดว่าเนื้อหาเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นในยุคโบราณอันไกลโพ้น และประการที่สองก็คือพวกเขาเข้าใจว่าถูกเขียนขึ้นโดยเทพเจ้าจริงๆ นั่นคือเทพเฮอเมสและเทพธอธ
Hermes Trismegistus แม้จะเป็นชื่อในภาษากรีก แต่พวกเขาคาดว่ามาจากการสนธิคำใหม่ Hermes คือชื่อของเทพเฮอเมส (Hermes) และ Trismegistus มาจากเทพธอธ (Thoth) ตำนานเทพเจ้ามักปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ อย่างเทพธอธ (Thoth) แห่งอียิปต์ เทียบได้กับเทพเฮอเมส (Hermes) ในตำนานกรีก หรือเทพเมอร์คิวรี (Mercury) ในตำนานโรมัน ได้รับการยอมรับจากผู้คนว่าเป็นเทพองค์เดียวกันและถูกเรียกในนาม “Thrice Great”
แต่สมาคมลับเหล่านี้ก็ศึกษาพวกไสยศาสตร์ และอารยธรรมโบราณต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอารยธรรมไอย์คุปต์ตามที่เคยกล่าวถึงไป หากแต่ปรัชญาบางอย่างก็ยังเป็นปริศนา พวกเขาจึงเริ่มมองหาความเป็นไปได้ต่างๆ พยายามหาจุดเชื่อมโยงเพื่อไขความลับอันซับซ้อนของภูมิปัญญาโบราณ ซึ่งพวกเขาคาดกันว่ามันอาจไม่ได้อยู่ในรูปของตำราที่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้โดยง่าย แต่มันอาจซุกซ่อนอำพรางเอาไว้ที่ไหนสักแห่งในรูปแบบของอะไรบางอย่าง ดังนั้นครั้งแรกที่เขาเห็น ไพ่ทาโรต์เขาคงเชื่ออย่างสุดหัวใจว่ามันคือ Book of Thoth รหัสลับของภูมิปัญญาโบราณ ที่อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ในไพ่ทาโรต์นั่นเอง
ถัดมาสองปีหลังจากที่ Antoine Court de Gebelin ตีพิมพ์หนังสือการเชื่อมโยงไพ่กับองค์ความรู้ลึกลับแห่งอียิปต์ Jean-Baptiste Alliette ซื้อไอเดียนี้ทันที เพื่อเป็นการตอบรับและสนับสนุนแนวความเชื่อของ Antoine Court de Gebelin ในปี ค.ศ 1783 เขาจึงได้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า “Manière de se récréer avec le jeu de cartes nommées tarots” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Way to recreate yourself with the deck of cards called tarots” เป็นหนังสือในการใช้ไพ่สำหรับการพยากรณ์เป็นเล่มแรก และต่อยอดมันในเส้นทางการพยากรณ์ของเขา ค.ศ 1789 เขาได้ผลิตไพ่สำรับใหม่ชื่อว่า “Le Grand Etteilla”
และเขาเรียกตนเองว่า “Etteilla” เป็นการสนธิชื่อใหม่โดยเรียงนามสกุลเดิมของเขาจากหลังไปหน้า ในตอนนี้เขาต้องการที่จะสร้างไพ่ที่มีความสมบูรณ์ของภูมิปัญญาโบราณมากกว่าที่เคยเป็นมา แม้เขาจะซื้อทฤษฎีของ Antoine Court de Gebelin แต่ก็มีมุมที่ขัดแย้งกันอยู่บ้างเนื่องจากการเชื่อมโยงไพ่กับองค์ความรู้ลึกลับอียิปต์แบบเก่าจะมองว่า Trumps Cards ควรจะอ่านย้อนกลับ คืออ่านจากลำดับสุดท้ายย้อนไปที่ลำดับที่หนึ่ง หากแต่ Etteilla ไม่คิดเช่นนั้น ตรงกันข้ามเขาอ้างว่าต้องกลับไปใช้ลำดับการอ่านตามเดิมของไพ่ Tarot of Marseilles เขาเชื่อว่านี่ต่างหากคือกุญแจสำคัญสำหรับการเข้าถึงภูมิปัญญาดั้งเดิม
ไพ่สำรับใหม่ของเขาได้มีการรื้อดีไซน์เดิมๆ ของไพ่สำรับ Tarot of Marseilles ทิ้งไป และแทนที่ด้วยศิลปะที่มีการตีความใหม่ ปลดแอกไพ่ทาโรต์จากสัญญะทางศาสนาคริสต์แบบเดิม เขาเริ่มนำโหราศาสตร์และศาสตร์ Hermetic รวมไปถึงการเชื่อมโยงไพ่กับ Kabbalistic มาใช้รังสรรค์ผลงานไพ่ทาโรต์ของเขา อ๊ะๆ ไพ่ทาโรต์ของเขาดูไม่ได้ดีไซน์ไปทางอารยธรรมไอย์คุปต์เลย แต่แค่นั้นก็ทำให้ไพ่ทาโรต์ของ Etteilla แปลกตากว่าที่เคยเป็นมาแล้วล่ะค่ะ แถมยังอ่านได้ง่ายกว่าเดิม มองภาพแล้วสามารถเข้าใจได้ไม่ต้องท่องจำความหมายตายตัวเป็นนกแก้วนกขุนทองเหมือนไพ่ทาโรต์ในยุคเก่าๆ เขาดีไซน์ไพ่ใหม่โดยที่ Trumps Cards จำนวน 22 ใบก็ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “Major” ส่วนไพ่ Pips Cards อีก 56 ใบก็เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “Minor”
เขาได้นำเสนอการอ่านไพ่แบบหัวกลับ (reverse) และใช้เทคนิคกำหนดผังในการวางไพ่ (Tarot Spread) และยังมีการอ่านไพ่แบบร้อยเรียงเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันด้วย ในเวลาต่อมาเขาก็เปิดสำนักสอนโหราศาสตร์และไพ่ทาโรต์ พร้อมทั้งตีพิมพ์คู่มือการพยากรณ์ไพ่ทาโรต์ตามมาอีกจำนวนหนึ่ง แม้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่เนื่องด้วยการพยากรณ์ไพ่ทาโรต์ของเขาค่อนข้างเป็นการตีความเฉพาะตัวเกินไปและยึดตามแนวคิดของเขาเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อ Etteilla เสียชีวิตลง สำนักไพ่ทาโรต์ของเขาก็ต้องปิดตัวเพราะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขามีบทบาทในการวางรากฐานศาสตร์การพยากรณ์ด้วยไพ่ และเป็นต้นแบบของนักอ่านไพ่ที่เคยมีชื่อเสียง ผลงานของเขาจะส่งอิทธิพลสำคัญต่อวงการไพ่ทาโรต์ในอนาคตจนถึงยุคปัจจุบันค่ะ
ยุคแห่งไสยเวทและศาสตร์ลึกลับ
ผ่านมาเกือบ 70 ปี ยุคสมัยของ Etteilla ผ่านพ้นแล้ว แต่อย่างที่กล่าวถึงไปค่ะ คำสอนและหนังสือที่เขาเคยตีพิมพ์ยังทรงอิทธิพลต่อความคิดในหมู่นักปราชญ์และผู้ศึกษาศาสตร์ลี้ลับอยู่ โดยเฉพาะ “Eliphas Levi” ผู้เชี่ยวชาญไสยศาสต์ เวทมนตร์โบราณ และคับบาลาห์ เขายอมรับในทฤษฎีที่ว่าไพ่ทาโรต์มีจุดเริ่มต้นจากอารยธรรมไอยคุปต์เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบว่าในปี ค.ศ 1856 เขาเขียนหนังสือที่ชื่อว่า “Dogma and Ritual of the High Magic” เป็นหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรมและเวทมนตร์ชั้นสูง รวมไปถึงการเผยแพร่แนวความเชื่อจากศาสตร์ลึกลับต่างๆ เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ภาพบาโฟเมท (Baphomet) ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะอย่างโจ้งแจ้งถึงขั้นสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการ หลายคนมองว่าเขาพัวพันกับลัทธิบูชาซาตานเลยทีเดียว
อาจเป็นเพราะว่า ผู้คนในยุโรปยุคสมัยนั้นลดบทบาทของคริสตจักรลงอย่างมาก และไม่ได้ให้ศาสนาเข้ามาครอบงำใดๆ อีก ช่วงศษตวรรษที่ 18 คือยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ยุคที่ผู้คนเชื่อมั่นในสิทธิทางธรรมชาติ (Natural Rights) ว่ามนุษย์ว่าคือชีวิตที่ทรงปัญญาและเราเกิดมาพร้อมกับอิสรภาพและเสรีในตนเอง ดังนั้นเมื่อหลักความเชื่อนี้กระจายไปทั่วยุโรป ก็ก่อกำเนิดปัญญาชนมากมาย ผู้คนเชื่อว่ามนุษย์ควรดำเนินด้วยการใช้ตรรกะเหตุผล มนุษย์มีสิทธิเลือกที่คิดหรือเชื่อตามที่ตนเองปารถนา มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น โต้เถียง หรือตั้งคำถามไม่ว่าจะเป็นใครหรือชนชั้นใด ดังนั้นแนวคิดแบบมนุษยนิยมจึงเริ่มเบ่งบาน ผู้คนไม่ให้ค่าจารีตคร่ำครึ ความเชื่อ ไสยศาสตร์ หรือศาสนามาชักจูงให้ผู้คนงมงายอีกต่อไป นั่นจึงเป็นช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติสังคม และเป็นช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ของวิทยาศาสตร์อันจะนำพาความก้าวหน้าทางวิทยาการมาสู่มนุษย์
ด้วยเหตุผลนี้ความเชื่อเรื่องลึกลับและไสยศาสตร์จึงเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่ม และถ่ายทอดกันผ่านสมาคมลับเช่นเดิม การที่ Eliphas Levi ตีพิมพ์หนังสือที่มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับซาตานอันถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายเป็นศาสตร์มืดจากยุคโบราณคร่ำครึ ก็ไม่แปลกที่จะสร้างความสั่นสะเทือนวงการ แต่ทว่าผู้คนที่มีอิสระในการเลือกที่จะเชื่อหรือศึกษาสิ่งที่ตนเองต้องการ มีไม่น้อยที่ยังสนใจศาสตร์ Hermetic หรือเรื่องลึกลับต่างๆ จากยุคโบราณกันอยู่ ดังนั้นเมื่อมีคนศรัทธาในความเก่งกาจของเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ลึกลับและเวทมนต์โบราณ จึงมีงานเขียนเกี่ยวกับความเชื่อลึกลับ ไสยศาสตร์ และเวทมนตร์ตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม
ในหนังสือ Dogma and Ritual of the High Magic ที่เรากล่าวถึงไป บทหนึ่งเต็มๆ ที่ Eliphas Levi เขียนเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ Major Arcana จำนวน 22 ใบว่ามีความสอดคล้องกับตัวอักษรฮิบรู 22 ตัว ไม่เพียงแค่นั้นเขายังได้เชื่อมโยงไพ่ทั้ง 78 ใบเข้ากับ Tree Of Life ในระบบความเชื่อ Kabbalistic เขาเริ่มนำแนวความเชื่อฝั่งตะวันตกอย่างโหราศาสตร์ การแล่นแร่แปรธาตุ พิธีกรรมไสยเวท และศาสตร์ hermetic รวมเข้ากับไพ่ทาโรต์ด้วย เสมือนว่าเขาต้องการให้ไพ่ทาโรต์เป็นตัวแทนของทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาลึกลับ ในอนาคตอีกหลายสิบปีทฤษฎีของ Eliphas Levi จะเป็นทั้งแรงบันดาลใจและอิทธิพลสำคัญในสมาคมลึกลับ มันจะถูกเผยแพร่และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย A.E Waite ผู้ผลิตไพ่ Rider Waite Smith นั่นเองค่ะ
“Paul Christian” เป็นลูกศิษย์ของ Eliphas Levi ในปี ค.ศ 1863 ได้ตีพิมพ์หนังสือ “The Red Man of the Tuileries” โดยมากจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับโหราศาสตร์ แต่บางส่วนก็พูดถึงไพ่ทาโรต์ที่เชื่อมโยงกับอารยธรรมไอย์คุปต์ด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งในอีก 2 ปีต่อมามันเป็นแรงบันดาลใจให้ “Mage Edmond” นักอ่านไพ่มืออาชีพในยุคนั้น ผลิตไพ่ทาโรต์โดยใช้ต้นแบบจากไพ่ Tarot of Marseilles และอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือของ Paul Christian ไพ่ทาโรต์สำรับนั้นปัจจุบันมีชื่อว่า “Grand Tarot Belline” เรียกได้ว่าเป็นสำรับไพ่ดีไซน์เริ่มค่อนไปทางอียิปต์อย่างชัดเจน และนับเป็นครั้งแรกที่เขาเรียกไพ่ทาโรต์ด้วยคำว่า “Arcana”
“Oswald Wirth” ซึ่งเติบโตในช่วงที่ผลงานของ Eliphas Levi เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้ที่สนใจศาสตร์ลึกลับ ดังนั้นเขาอยู่ในยุคที่มีความรุ่มรวยทางไสยศาสตร์จากบรรดาปรมาจารย์ทั้งหลาย เขาจึงได้รับเอาแนวคิดความเชื่อเหล่านั้นมาด้วย และในปี ค.ศ 1899 เขาได้จำหน่ายไพ่ชื่อเดียวกับชื่อของเขา "Tarot Oswald Wirth" ซึ่งเป็นการตีความจากเนื้อหาในหนังสือของ Eliphas Levi โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องและมีความสวยงามผ่านศิลปะบนหน้าไพ่ เพื่อที่ผู้ใช้งานจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในส่วนของงานภาพคาดว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากไพ่สำรับ Grand Tarot Belline โดยยังคงเป็นการใช้แม่แบบจาก Tarot de Marseille แต่สอดแทรกสัญลักษณ์ของคับบาลาห์และภูมิปัญญาลึกลับแห่งอียิปต์ มีตัวอักษรฮิบรูกำกับบนไพ่แต่ละใบ ผลงานของเขาอยู่ภายใต้คำแนะนำของ “Stanislaus de Guaita” ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ลึกลับเช่นกัน
เนื่องจากเขาได้ตกตะกอนองค์ความรู้ทั้งหมด หลังจากศึกษาศาสตร์ลึกลับและไพ่ทาโรต์มาเป็นระยะเวลานาน จนในปี ค.ศ 1927 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า “Le Tarot des Imagiers du Moyen Age” อันเป็นบทสรุปสุดท้าบของไพ่ทาโรต์และคับบาลาห์ที่ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างไรก็ตามงานเขียนของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสขณะนั้น และมันจะถูกส่งต่อเป็นองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์ไพ่ทาโรต์ในยุคต่อๆ ไป
ไพ่ทาโรต์เป็นเครื่องมือการพยากรณ์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนที่สนใจการทำนายทายทักและศาสตร์ลึกลับเหนือธรรมชาติ ไพ่ทาโรต์ได้รับการพัฒนาปรัชญามาตลอดในประเทศฝรั่งเศส มันได้รับการยอมรับในฐานะภูมิปัญญาลึกลับในรูปของสัญลักษณ์ หากแต่ผู้สนใจเรื่องไสยศาสตร์ในประเทศอังกฤษในขณะนั้นมีความยุ่งยากในการศึกษา การที่จะแปลหนังสือเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของระดับปรมาจารย์ที่ประเทศฝรั่งเศส ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะกำแพงทางภาษา ในบรรดาผู้ที่สนใจศาสตร์ลี้ลับก็มีที่รู้ภาษาฝรั่งเศสกันไม่มาก เช่นเดียวกับไพ่ทาโรต์การทำความเข้าใจถึงแก่นอย่างลึกซึ้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
จนกระทั่ง “Kenneth MacKenzie” เขาเป็นชาวอังกฤษที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และการเข้าหาปรมาจารย์อย่าง Eliphas Levi ก็เป็นความคิดที่เยี่ยมยอด พวกเขาพบกันในปี ค.ศ 1861 หลังเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส เขาก็ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจอย่างท้วมท้น จนนำไปสู่การเรียบเรียงและเขียนเป็นต้นฉบับหนังสือ “Cypher Manuscript” และ “Book T” เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในเล่ม Book T จะเน้นไปที่การเขียนเกี่ยวกับคู่มือพยากรณ์ไปทาโรต์ที่ยังคงอิงเนื้อหาความเชื่อ Kabalistic และโหราศาสตร์
และแล้วในปี ค.ศ 1886 เขาก็ได้เสียชีวิตลง กล่าวกันว่าเป็นความโชคดีอย่างมาก ที่ภรรยาของเขาไม่ได้ทำลายเอกสารงานเขียนต่างๆ ทิ้ง เพราะหากเราไม่พบต้นฉบับหนังสือทั้งสองเล่มนั้น เราอาจไม่ได้ต่อยอดพัฒนาไพ่ทาโรต์ในประเทศอังกฤษ แต่คาดว่าเราจะยังคงยึดขนบไพ่ทาโรต์ของ Etteilla หรือ Oswald Wirth อยู่แค่นั้นก็ได้ ในขณะเดียวกันเพราะต้นฉบับสองเล่มนั้นตกไปอยู่ในมือ “SL MacGregor Mathers” ซึ่งเขามีความรู้สึกสนใจในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องไสยเวทและความลึกลับของศาสตร์โบราณต่างๆ ในเวลาต่อมาเขาได้เรียบเรียงหนังสือเหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น และมันได้กลายมาเป็นรากฐานองค์ความรู้ก่อให้เกิดสมาคมลับที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ ในปี ค.ศ 1888 เขาได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคม “Hermetic Order of the Golden Dawn”
“ระบบความเชื่อทางด้านศาสตร์ลึกลับตามแนวคิดของ Eliphas Levi จะถูกเผยแพร่อย่างลับๆ ที่ประเทศอังกฤษภายใต้สมาคม Golden Dawn”
สมาคมลับ Golden Dawn ก็มีการวาดไพ่ขึ้นมาใหม่โดยอิงจากข้อมูลในหนังสือ Book T และคาดว่าน่าจะถูกวาดและลงสีโดยภรรยาของหัวหน้าสมาคม เพราะเธอเคยเรียนในโรงเรียนศิลปะมาก่อน แต่ไพ่สำรับนั้นไม่ได้ถูกจำหน่าย แต่มีการเผยแพร่ในวงแคบภายในสมาคมในฐานะโมเดลต้นแบบเท่านั้น สมาชิกของสมาคมจะต้องวาดภาพและลงสีตามต้นฉบับ จะเห็นว่าไม่มีแม้แต่การผลิตเพื่อแจกจ่ายภายในสมาคมด้วยซ้ำ ทุกคนจะต้องสร้างขึ้นมาเองตามต้นแบบ
ดังนั้นไพ่ทาโรต์ของ Golden Dawn ไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาไพ่ทาโรต์ในกระแสหลักเท่าไหร่นักค่ะ แต่ Book T ต่างหากที่จะเป็นต้นแบบให้กับสมาชิกบางท่าน ไปต่อยอดผลิตไพ่ของตนเองและประสบกับชื่อเสียงความสำเร็จในอนาคตแทน เช่น Aleister Crowley’s ที่ผลิตไพ่ Thoth และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
ยุคทองของ Rider Waite Smith
ในปี ค.ศ 1909 ไพ่ “Rider Waite” ถูกผลิตออกมาวางจำหน่ายพร้อมคู่มือการใช้งาน “The Pictorial Key to Tarot” ทั้งไพ่และคู่มือจัดทำขึ้นโดย “A.E Waite” ร่วมกับบริษัท “Rider Company” ดังนั้นชื่อ Rider Waite จึงเป็นการนำนามสกุลของ A.E Waite มารวมเข้ากับชื่อบริษัทนั่นเองค่ะ ในส่วนของงานภาพและลงสีเป็นหน้าที่ของจิตรกรฝีมือดี “Pamela Colman Smith” ทั้งสองเป็นอดีตสมาชิกในสมาคมลับ Golden Dawn พวกเขาได้จับมือกันร่วมรังสรรค์ผลงานระดับ Master Piece ไพ่ของพวกเขาประสบความสำเร็จมหาศาล และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในฐานะเครื่องมือการพยากรณ์อันทรงพลังมามากกว่าศตวรรษจวบจนถึงปัจจุบันค่ะ
ดรีมจะขอกล่าวถึงที่มาที่ไป และประวัติโดยสังเขปของพวกเขาเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักไพ่สำรับ Rider Waite กันให้มากขึ้นนะคะ เริ่มจาก A.E Waite ผู้เป็น Director ของกระบวนการสร้างสรรค์ไพ่ทาโรต์สำรับอมตะ เขาเป็นทั้งนักแปลและนักเขียนอิสระ มีนามปากกาว่า “Grand Orient” ตามประวัติเขาเคยตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการพยากรณ์ด้วยไพ่ทาโรต์ เช่น A Handbook of Cartomancy, Fortune-Telling และ Occult Divination เพื่อรื้อฟื้นความจำให้กับทุกท่าน A.E Waite นี่เองที่เคยแปลงานเขียนของ Eliphas Levi นั่นก็คือหนังสือ Dogma and Ritual of the High Magic เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ Major Arcana จำนวน 22 ใบว่ามีความสอดคล้องกับตัวอักษรฮิบรู 22 ตัว และเชื่อมโยงไพ่ทั้ง 78 ใบเข้ากับ Tree Of Life ในระบบความเชื่อ Kabbalistic นำแนวความเชื่อฝั่งตะวันตกอย่างโหราศาสตร์ การแล่นแร่แปรธาตุ พิธีกรรมไสยเวท และศาสตร์ hermetic รวมเข้ากับไพ่ทาโรต์
ดังนั้นจึงช่วยยืนยันได้ว่า A.E Waite ซื้อไอเดียเกี่ยวกับเรื่องลึกลับและภูมิปัญญาโบราณเหล่านี้แน่นอน ความน่าสนใจก็คือเมื่อปี ค.ศ 1881 เขาพึ่งค้นพบงานเขียนของ Eliphas Levi ขณะนั้นเขามีอายุ 24 ปี แต่อันที่จริงเขาเริ่มศึกษาศาสตร์ลึกลับและจิตวิญญาณหลายแขนงมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่อายุ 21 ปีแล้วล่ะค่ะ และที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดก็คือเมื่อปี ค.ศ 1891 ขณะที่เขาอายุ 34 ปี ก็ได้ผันตัวไปเป็นสมาชิกในสมาคมลับ Golden Dawn อย่างเต็มตัว ดังนั้นความคิดและความสนใจของเขาจึงมุ่งไปในเส้นทางแห่งจิตวิญญาณและศาสตร์ลึกลับต่างๆ จนเรียกได้ว่ามันคือตัวตนของเขาเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตามแม้เขาจะสนใจเรื่องศาสตร์ลึกลับแต่เขาก็เหลื่อมใสศรัทธาในศาสนาคริสต์ด้วยเขาเปลี่ยนมานับถือนิกายคาทอลิก เมื่อสมาคมลับอย่าง Golden Dawn แพแตกเมื่อปี ค.ศ 1903 เพราะความขัดแย้งที่คุกกรุ่นภายใน ผู้คนแยกกันไปคนละทางเหมือนผึ้งแตกรัง ระหว่างนั้นเขาก็ได้เข้าร่วมในสมาคมอื่นๆ แทน แต่ด้วยตัวตนที่แสวงหาองค์ความรู้ที่สูงขึ้นทางจิตวิญญาณ และความสนใจในศาสตร์ลึกลับที่ยังไม่เสื่อมคลาย ผ่านมาสิบกว่าปี เขาก็ได้เริ่มก่อตั้งสมาคมของเขาเองในชื่อ “Fellowship of the Rosy Cross” เมื่อปี ค.ศ 1915 เป็นสมาคมที่ก่อตั้งด้วยชุดความคิดของคนที่สนใจในศาสตร์ลึกลับที่ปรับปรัชญาให้สอดคล้องกับคับบาลาห์และคริสต์ศาสนา (Western Esotericism) แต่ก็ยังยึดแนวทางคำสอนของศาสนาคริสต์ด้วยค่ะ
มาต่อกันที่ประวัติของ Pamela Colman Smith กันบ้างนะคะ เธอมีชื่อเล่นว่า “Pixie” ซึ่งเป็นชื่อที่ “Ellen Terry” นักแสดงละครเวทีที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นมักจะเรียกเธอ และหลังจากนี้ดรีมจะใช้คำว่า Pixie เมื่อกล่าวถึงเธอเช่นกันนะคะ
Pixie เกิดที่ใจกลางกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษกับพ่อแม่เชื้อสายอเมริกัน จนกระทั่งปี ค.ศ 1889 ขณะที่เธออายุได้เพียงแค่ 11 ขวบ ครอบครัวได้ย้ายไปที่ประเทศจาไมกา ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมาจะย้ายไปอยู่ที่เมืองบรู๊คลินในนิวยอร์ค ที่นั่นเธอได้เข้าเรียนในสถาบัน Pratt เธอเรียนศิลปะที่นั่นภายใต้การสอนของ Arthur Wesley Dow จิตรกรผู้มีชื่อเสียง โดยเขาเห็นแววพรสวรรค์ของเธอ ผลงานของเธอออกไปทาง Symbolism Art คือเธอสามารถถ่ายทอดผลงานศิลปะผ่านสัญลักษณ์แล้วสื่อสารต่อผู้อื่นในผลงานของเธอได้ แต่ทว่าเพราะเธอสูญเสียแม่และ Pixie เองสุขภาพไม่แข็งแรง เธอจึงไม่เรียนไม่จบในสถาบันแห่งนี้
ชีวิตของเธอไม่ได้สวยหรูนักเพราะเพียงเวลาไม่นานเธอก็สูญเสียพ่อไปอีกคน ดังนั้นในปี ค.ศ 1899 ขณะที่เธออายุเพียง 21 ปี เธอต้องเดินทางกลับบ้านเกิดไปที่ประเทศอังกฤษด้วยตัวคนเดียว สิ่งที่เธอมีติดตัวคือพรสวรรค์แห่งศิลปะ เธอได้ทำงานในฐานะนักวาดภาพประกอบและได้ถูกดึงตัวให้ทำงานออกแบบฉากในโรงละครเวทีและมันเป็นที่ที่ทำให้เธอสนิทสนมกับ Ellen Terry ผู้ที่จะมีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจการวาดภาพประกอบบนไพ่ของเธอ
ชีวิตของ Pixie ไม่ได้โดยด้วยกรีบกุหลายนัก ชื่อเสียงของเธอโด่งดั่งหลังจากเธอเสียชีวิตไปหลายสิบปี แต่มันช่างแตกต่างจากเมื่อครั้งที่เธอยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากเธอมักมีปัญหาการเงินอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าเธอจะดิ้นรนอย่างสุดตัวแล้วก็ตาม เธอพยายามเปิดสตูดิโอสำหรับโชว์งานศิลปะ ก่อตั้งนิตยสารหัวใหม่ในชื่อ “The Green Sheaf” ตีพิมพ์หนังสือและผลงานศิลปะต่างๆ แต่ทั้งหมดก็จบลงด้วยการไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควรและมันไม่ได้ทำกำไรมากมายนัก สุดท้ายก็ต้องปิดตัวทั้งสตูดิโอและนิตยสาร เธอใช้ชีวิตแบบขัดสนเงินทองอยู่เนืองแต่ยังคงรับงานออกแบบภาพประกอบอยู่เรื่อยๆ
A.E Waite เชื่อว่าด้วยพรสวรรค์พิเศษและญาณทิพย์ของเธอ มันจะทำให้เธอสามารถเข้าใจถึงองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาลึกลับสิ่งที่อยู่สูงขึ้นเหนือสภาวะการรับรู้จากผัสสะปกติ เธอจะสามารถเชื่อมต่อกับพลังงานเหล่านั้น และถ่ายทอดผ่านภาพบนผ่านไพ่ทาโรต์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกคนคงไม่ปฏิเสธใช่มั้ยคะว่า A.E Waite คิดถูก! ภาพประกอบที่ Pixie วาดลงบนไพ่ได้รับการยอมรับทั้งในฐานะศิลปะอันทรงคุณค่า รวมไปถึงเป็นเครื่องมือพยากรณ์อันทรงพลัง นักอ่านไพ่สามารถที่จะสัมผัสพลังงานและอารมณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ตีความสัญลักษณ์ได้ลุ่มลึกขึ้น เชื่อมต่อกับสิ่งที่อยู่สูงขึ้นเพื่อค้นหาคำตอบจากจักรวาลนอกจากนี้ยังสามารถเข้าใจหลักปรัชญาที่แฝงเร้นเอาไว้ตามแต่จิตใต้สำนึกและการตื่นรู้ส่วนบุคคล และไพ่ทาโรต์ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและเป็นต้นแบบของไพ่ทาโรต์ยุคสมัยใหม่ให้เจริญรอยตาม
สิ่งที่ทำให้ Rider Waite ประสบความสำเร็จมหาศาล มาจากศิลปะที่ย่อยง่ายแต่แฝงไว้ด้วยปรัชญาของจิตรกรผู้มีพรสวรรค์อย่าง Pixie และองค์ความรู้ของ A.E Waite ที่คุมโทนให้ผลงานชิ้นนี้มีความลุ่มลึกไปด้วยการเชื่อมโยงกับปรัชญาศาสตร์ลึกลับตะวันตก (Western Esotericism) แต่ที่สำคัญก็คือไพ่สำรับนี้ฉีกแนวจากไพ่ทาโรต์สำรับอื่นๆ ในยุคสมัยนั้นอย่างมาก เนื่องด้วยปกติแล้วจะมีแค่ไพ่ Trumps Cards จำนวน 22 ใบเท่านั้นที่มีภาพประกอบ ในขณะที่ไพ่ Pips Cards ที่เหลืออีก 56 ใบ ก็จะวาดเป็นชุดไม้เท้า ถ้วย ดาบ และเหรียญแทน บางครั้งผู้ออกแบบก็ตัดไปชุดเล็กออกไปเลย ให้เหลือแต่เพียงไพ่ชุดใหญ่ก็มี ดังนั้นการที่ไพ่ Rider Waite ฉีกแนวออกมาด้วยการวาดภาพประกอบไพ่ครบทั้งหมด 78 ใบเสียเลย ความอ่านง่ายและภาพที่มีสีสันสวยงามก็ย่อมแย่งชิงสัดส่วนทางการตลาดได้มากกว่าค่ะ หากยังจำกันได้ไพ่ Sola Busca ถือได้ว่าเป็นไพ่ที่มีภาพประกอบครั้งทั้ง 78 ใบเป็นครั้งแรก มันจึงได้ชื่อว่าเป็นไพ่ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับไพ่ในยุคเริ่มต้น และเป็นสำรับที่จะส่งท้ายความรุ่งโรจน์ของไพ่ในศตวรรษที่ 15 จนกระทั่ง Rider Waite ได้นำไอเดียการวาดภาพประกอบในไพ่ชุดเล็กมาใช้จนเป็นผลงานระดับ Master Piece
“แต่เรื่องน่าเศร้าของ Pixie ยังมีต่อค่ะเพราะแม้ไพ่ Rider Waite Tarot จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ผลงานการวาดภาพประกอบของเธอกลับได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย (บางข้อมูลก็บอกว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย) โดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในค่าลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับเครดิตอย่างเป็นทางการด้วย”
แม้กระทั่งชื่อสำรับไพ่ยังเป็นการเอานามสกุลของ A.E Waite มารวมเข้ากับชื่อบริษัท Rider Company ดังนั้นเบื้องหลังความสำเร็จกลับซ่อนความขมอยู่ในนั้น ผลงานศิลปะของเธอไม่ได้รับการให้คุณค่าอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งมันน่าเศร้าอย่างยิ่ง ดังนั้นในยุคปัจจุบันสมาคมไพ่ทาโรต์จึงได้มอบความยุติธรรมให้กับเธอ ด้วยการเรียกร้องการเปลี่ยนชื่อไพ่ทาโรต์ใหม่ จากแต่เดิมเป็น Rider Waite Tarot ก็เปลี่ยนให้เป็น “Rider Waite Smith Tarot” โดยเติมนามสกุลของ Pixie เข้าไปในชื่อ เพื่อให้เธอมีส่วนรวมในความยสำเร็จของผลงานชิ้นนี้ เพราะสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตนักวาดภาพประกอบของเธอคือไพ่ทาโรต์นั่นเองค่ะ ดังนั้นการเรียกไพ่สำรับนี้ว่า Rider Waite Smith ก็ถือว่าเป็นการยอมรับและให้คุณความเคารพต่อผลงานของเธอเช่นกันค่ะ และในปีที่ครบรอบ 100 ปีของไพ่สำรับ Rider Waite Smith ก็ได้มีการจัดทำไพ่ชุดพิเศษขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอในชื่อว่า “Pamela Colman Smith Commemorative Set” ซึ่งแฟนไพ่ทาโรต์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงนะคะ
ไพ่ Rider Waite Smith ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะความสวยงาม และเนื่องจากมีภาพประกอบในไพ่ทุกใบแถมมีคู่มือสำหรับการพยากรณ์ประกอบจึงใช้งานได้ง่าย จนกระทั่งในปี ค.ศ 1916 “De Laurence” เป็นนักเขียนชาวอเมริกันและเขาได้เปิดสำนึกพิมพ์เป็นของตัวเอง เขาละเมิดลิขสิทธิ์ของ Rider Company มีการคัดลอกผลงานไพ่ Rider Waite Smith ไปตีพิมพ์เผยแพร่เองที่อเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาติ ก่อนที่ในปี ค.ศ 1971 บริษัท “US Games” จะได้รับลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่และตีพิมพ์อย่างถูกต้องตามกฏหมายและยังถือครองสิทธิ์นั้นมาจนถึงตอนนี้ค่ะ ขณะนั้นเองที่ไพ่ทาโรต์ได้รับความนิยมในอเมริกาอย่างล้นหลาม และหากไพ่ทาโรต์เปิดตัวอย่างสวยงามพร้อมกระแสความนิยมในอเมริกาแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่ในเวลาต่อมามันจะต้องประสบความสำเร็จแพร่หลายไปทั่วโลก
ในช่วงกลางศษตวรรษที่ 20 ก็ได้กำเนิดนักเขียนและนักอ่านไพ่ทาโรต์สัญชาติอเมริกันมากมาย ในดินแดนแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ หากคุณอยากเป็นนักพยากรณ์ไพ่ คุณไม่ต้องดิ้นรนเพื่อไปเข้าสมาคมลับอีกต่อไปแล้ว เพียงแค่คุณซื้อหนังสือคู่มือการพยากรณ์ หรือซื้อคอร์สเข้าสัมมนาเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ คุณก็สามารถได้รับความรู้และการถ่ายทอดจากมืออาชีพได้ทันที ตัวอย่างนักเขียนคู่มือการพยากรณ์ด้วยไพ่ทาโรต์ที่มีผลงานการตีพิมพ์และมีชื่อเสียง เช่น Eden Grey, Rachel Pollack และ Mary Greer
ผู้คนให้ความสนใจไพ่ทาโรต์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับที่โลกของเรามีนักพยากรณ์ไพ่มากขึ้น ผู้คนที่มารับคำปรึกษาต่างก็รู้สึกศรัทธาในความเข้มขลังและแม่นยำของไพ่ทาโรต์ ยิ่งคนสนใจมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยยืนยันคุณภาพของไพ่ทาโรต์ได้มากขึ้นเท่านั้น ไพ่ทาโรต์ได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะเครื่องมือการพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย แต่มีความแม่นยำสูง ไพ่ทาโรต์สำรับ Rider Waite Smith จึงครองใจผู้ใช้งานและเป็นไพ่สำรับที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล และมีชื่อเสียงมากกว่าไพ่สำรับอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ปัจจุบันวงการไพ่ทาโรต์เติบโตอย่างมาก มีไพ่ให้เลือกใช้งานหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความชอบและความสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไพ่ทาโรต์ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน ยังคงยึดตามขนบของไพ่สำรับ Rider Waite Smith อย่างเหนียวแน่น เรียกได้ว่าไพ่สำรับนี้ทรงอิทธิพลต่อความเชื่อ และแนวคิดของนักพยากรณ์และศิลปินผู้ออกแบบไพ่ในยุคปัจจุบันอย่างมาก
ดังนั้นไพ่ทาโรต์จึงเป็นทั้งผลงานศิลปะสุดอมตะ เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และความเชื่อลึกลับจากยุคโบราณ เป็นปรัชญาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และสุดท้ายเป็นเครื่องมือการพยากรณ์ที่มีความขลังและแม่นยำสูงที่ยังคงได้รับความนิยมมามากกว่าศตวรรษจนถึงปัจจุบัน
บทความต่อไปที่ดรีมอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านคือบทความเรื่อง "ไพ่ทาโรต์ไม่ได้มาจากชาวยิปซี" ซึ่งดรีมตั้งใจเขียนเพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจที่มาที่ไปว่า ความเข้าใจผิดนี้เริ่มมาจากตรงไหน และจะได้ทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องค่ะ
ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความในทุกกรณี กรุณาแชร์บทความเพื่อลิงค์กลับมาที่เว็บไซต์ต้นทางค่ะ
อ้างอิง
https://tarot-heritage.com/links/
https://pre-gebelin.blogspot.com/2012/02/dummetts-game-of-tarot.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Tarot
หนังสือ Secrets of the Waite-Smith Tarot: The True Story of the World's Most Popular Tarot
Comments