top of page

ไพ่ทาโรต์ไม่ได้มาจากชาวยิปซี


เดิมทีพวกเขาไม่ได้ใช้ไพ่เลย หากแต่ดูลายมือหรือใช้ลูกแก้วในการพยากรณ์ บ้างก็บริกรรมคาถาอะไรบางอย่าง แต่อย่างที่เราทราบกัน พวกเขาคือนักผจญภัยเดินทางร่อนแร่ไปทั่วและเห็นวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย การที่จะปักหลักอยู่ที่ใดเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ดังนั้นความจริงก็คือชาวยิปซีต่างหากค่ะที่เปลี่ยนไปใช้ไพ่ในการพยากรณ์เพื่อเบี่ยงเบนข้อครหาว่าเป็นแม่มดหรือพวกเสพมนตร์ดำ!

หากใครยังไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์ ดรีมอยากให้ทุกคนจิ้ม ที่นี่ เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไป ก่อนที่จะมาอ่านบทความนี้นะคะ ทุกคนจะได้รับความรู้ความเข้าใจกันอย่างเต็มอิ่ม ถึงความเป็นมาอันยาวนานหลายร้อยปี พัฒนาปรัชญากันมาหลายรูปแบบค่ะ กว่าจะมาเป็นไพ่ทาโรต์ที่สมบูรณ์ในมือของทุกคนวันนี้


ดรีมเชื่อว่าหลายคนจะต้องเข้าใจแบบดรีมค่ะ ว่าไพ่ยิปซีที่คนไทยเราเรียกกัน จะต้องมีที่มาจากชาวยิปซีแน่ๆ เมื่อก่อนดรีมหาข้อมูลตามเว็บไซต์ ก็พบแต่ตำนานของชาวยิปซีที่เป็นผู้เผยแพร่ไพ่ทาโรต์เต็มไปหมด และดรีมก็เชื่อมาแบบนั้นมาตลอด ก่อนจะมารู้ในภายหลังว่า อ่าว... ไม่ใช่นี่หว่า 5555555 เพราะตำนานเหล่านี้มาจากความเข้าใจผิดแต่เดิมของฝั่งตะวันตก ดังนั้นการที่คนไทยเรารับเอาศาสตร์การพยากรณ์ไพ่ของเขามา มีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน แต่ดันได้รับชุดข้อมูลจากความเข้าใจผิด มันก็ย่อมทำให้เกิดความผิดเพี้ยนไปด้วยอีกที


ปัญหาคือแทนที่เราจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง บางคนกลับมานั่งหักหน้า หรือแสดงความขำขันแก่ความไม่รู้ของผู้อื่น ดรีมว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไรค่ะ หากเรามีความรู้อะไรก็ส่งต่อสิ่งที่เรารู้มาให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจมันอย่างถูกต้องน่าจะดีที่สุดค่ะ ดรีมจึงไม่สนับสนุนการโจมตีความเข้าใจผิดด้วยการเย้ยหยัน หากแต่เราถกกันจากข้อมูลด้วยความสุภาพคงดีกว่า ที่สำคัญความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เราเคยเข้าใจกันว่าเป็นเช่นนี้ หากวันนึงเราเจอหลักฐานอะไรใหม่ๆก็ยังสามารถอัพเดตความรู้กันใหม่ได้อีก ขอเพียงทุกคนเปิดใจกว้างก็พอนะคะ และด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไปข้อมูลต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น การสืบค้นต้นตอความจริงจึงทำได้สะดวกมาก ดรีมเองก็เป็นเพียงแค่ผู้เรียบเรียงข้อมูลเหล่านั้น มาเกลาให้ทุกท่านได้อ่านและทำความเข้าใจง่ายขึ้นว่า จริงๆแล้วไพ่ทาโรต์ไม่ได้มาจากชาวยิปซี หวังว่าทุกท่านจะสามารถได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่มากก็น้อย แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักตำนานที่ว่ากันดีกว่าค่ะ


“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... ณ ดินแดนฝรั่งเศสในปี ค.ศ 1390 ได้มีหญิงชาวยิปซีนางหนึ่งผู้มีความสามารถทางด้านการพยากรณ์ เมื่อล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของกษัตริย์ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส” (Charles VI of France) จึงได้มีรับสั่งให้นางเข้าเฝ้าแล้วทูลถวายคำพยากรณ์ ครั้นเมื่อพระราชาแลพระราชินี้ได้รับคำพยากรณ์จากหญิงชาวยิปซี ก็เกิดความปลื้มพระทัยในความแม่นยำ กระทั่งในปี ค.ศ 1392 พระราชาได้มีรับสั่งให้จิตกรนามว่า “Jaquemin Gringonneur” วาดไพ่จำนวนสามชุดเพื่อถวายพระองค์ และนั่นคือไพ่สำรับแรกที่ผลิตอย่างเป็นทางการและเก่าแก่ที่สุด”


ในตำนานดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นความจริงและส่วนที่เป็นความเข้าใจผิดอยู่ค่ะ หากใครอ่านบทความนี้ เรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษไพ่ที่เก่าแก่ที่สุดคือไพ่ Mamluk ที่เริ่มแพร่กระจายความนิยมเข้าสู่ทวีปยุโรปเมื่อปี ค.ศ 1370  ประการต่อมาคือในปี ค.ศ 1390 ยังเร็วไปมาก เรียกว่าเร็วไปเกือบ 300 ปีทีเดียวที่ไพ่จะพัฒนาและถูกใช้ในการพยากรณ์ที่ประเทศฝรั่งเศส หากลองสังเกตุให้ดีไพ่สำรับในตำนานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ที่เรียกกันว่าสำรับ “Gringonneur” หรือในอีกชื่อหนึ่ง “Charles VI” มีความคล้ายคลึงกับไพ่ Trionfi ของสำรับ Visconti-Sforza ในประเทศอิตาลีมาก ดังนั้นไพ่สำรับนี้ดูจะเกิดมาผิดยุคไปหน่อยนะคะ แถมยังดูไม่มีที่มาที่ไปอีกด้วย


หญิงชาวยิปซีใช้ไพ่ยิปซีทำนายให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 จริงหรือ?

ความจริงก็คือช่วงเวลาดังกล่าว เราไม่พบร่องรอยของชาวยิปซีในยุโรปเลยค่ะ ขอท้าวความก่อนว่าชาวยิปซี ชาวโบฮีเมียน หรือชาวโรมานี ก็คือกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน ต่างกันที่คำเรียกขาน จริงๆ ถ้าให้เจาะจงการใช้ภาษาของประเทศต่างๆ ก็คงไม่ไหวเพราะมีคำท้องถิ่นที่ใช้เรียกไม่เหมือนกัน แต่ก็ขอหยิบเฉพาะคำนิยมหรือคำคุ้นชินที่เห็นกันบ่อยๆ นะคะ ชาวยิปซีแต่เดิมพวกเขาอพยพและร่อนเร่มาจากอินเดียเราสืบทราบจากภาษาโรมานีที่พวกเขาใช้สื่อสารกัน ที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาหนึ่งในอินเดีย และจากการตรวจรหัสพันธุกรรมจึงพบว่าพวกเขาคือชาติพันธ์อินโด-อารยันอย่างแน่นอน


หากแต่ในยุคสมัยนั้นการร่อนเร่พเนจรมันอาจนานพอให้พวกเขาหลงลืมว่าจริงๆ แล้วตัวเองมาจากที่ใด พวกเขาจึงถูกเข้าใจว่าอพยพมาจากอียิปต์เลยได้ชื่อว่ายิปซี (Gypsies) ความเป็นนักเดินทางที่ผจญภัยไปในดินแดงต่างๆ อาจฟังแล้วดูโรแมนซ์ แต่ชีวิตพวกเขากลับไม่ได้สวยหรูอย่างนั้น กลับกันพวกเขาเป็นชาติพันธ์ที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ต้องเร่ร่อนไปทั่วทั้งยุโรปโดยไม่มีผู้ใดต้องการ ถึงขนาดว่าในยุคที่นาซีเรืองอำนาจนอกจากชาวยิวแล้วก็มีชาวยิปซีด้วยค่ะ ที่ถูกเกณฑ์จากทั่วยุโรปเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธ์ เพราะถูกมองว่าพฤติกรรมของชาวยิปซีนั้นไม่มีอารยะ เป็นพวกชนชั้นต่ำที่ไม่สมควรจะมีชีวิตอยู่


ในปี ค.ศ 1411-1417 ชาวยิปซีปรากฏตัวครั้งแรกในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศฮังการี ประเทศเยอรมนี และประเทศสเปน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ในปี ค.ศ 1390 เราจะพบพวกเขาที่ฝรั่งเศส ในขณะนั้นชาวยิปซีมักเดินทางเป็นกองคาราวานและมีอุปนิสัยชอบร้องรำทำเพลง แต่ให้ทุกคนลองคิดภาพตามดรีมนะคะ ผู้คนที่มาจากที่ใดก็ไม่ทราบอพยพมาเป็นจำนวนมาก หน้าตาผิวพรรณแตกต่างจากคนขาวสิ้นเชิงด้วยว่าชาติพันธ์คืออินโด-อารยัน ย่อมมีผิวคล้ำแบบชาวอินเดีย การแต่งตัวท่าทางก็ดูไม่ได้มีการศึกษาหรือได้รับการอบรมบ่มเพาะทางมารยาท สื่อสารกันก็ไม่รู้เรื่องเพราะด้วยพื้นฐานทางภาษาที่แตกต่างกัน ทุกคนคิดว่าจะได้รับการต้อนรับแบบใดจากเหล่าคนขาวในยุโรปยุคนั้นเล่า หากเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คงไม่ต่างจากสายตาของนานาประเทศที่ทอดมองไม่ยังชาวโรฮิงญาในปัจจุบันนี้หรอกค่ะ แต่ในยุคสมัยนั้นมันแย่กว่ามาก ยุคที่ยังไม่รู้จักมนุษยธรรม ยุคที่สิทธิมนุษยชนยังไม่เบ่งบาน ชาวยิปซีถูกขับไล่ไม่ต่างจากหมูหมา แต่ถ้าพูดกันตามตรงหมูหมาก็อาจมีค่ากว่าชาวยิปซีมากในสมัยนั้น ซึ่ง..ไม่ใช่เรื่องเกินจริงค่ะ


ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จาก Wikipedia ระบุว่า “ชาวยิปซีถูกไล่ออกจากเมืองไมเซินประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ 1416, เมืองลูเซิร์นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1471, เมืองมิลานประเทศอิตาลีในปี 1493, ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1504, เมืองกาตาลุญญาประเทศสเปนในปี ค.ศ. 1512, ประเทศสวีเดนในปี ค.ศ. 1525, ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1530, ประเทศเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1536, และประเทศโปรตุเกสในปี ค.ศ 1538 รวมไปถึงมีประกาศอย่างเป็นทางการว่าหากชาวยิปซีคนใดก็ตามที่พบเห็นว่ายังอยู่อาศัยในสวิสเซอร์แลนด์จะต้องถูกประหารชีวิต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1510 เป็นต้นไป ก่อนที่อังกฤษและเดนมาร์คจะเริ่มปฏิบัติตามในอีกหลายสิบปีให้หลัง”

            ชีวิตของชาวยิปซีต่างก็เป็นที่ดูหมิ่นหยามเยียดในทุกเมืองที่เหยียบเท้าเข้าไป เกือบทั่วทั้งยุโรปต่างประณามและขับไล่ไสส่ง ชาวยิปซีต้องอพยพเร่ร่อนผลัดถิ่นไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีชีวิตอย่างน่าเวทนาไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม หนำซ้ำยังมีกฎที่สร้างขึ้นเพื่อกีดกันชาวยิปซีโดยเฉพาะ ถ้าหากใครไม่ย้ายออกไปจากเขตหวงห้ามก็ต้องโทษถึงตาย!


ชาวยิปซีในสมัยนั้นหากมีความสามารถหน่อยก็จะไปเป็นเปิดวงดนตรี หรือไปเป็นนักแสดงโชว์ในคณะละครสัตว์ บางคนอาจไปเป็นช่างทำรองเท้า ช่างไม้ ช่างตีเหล็ก คนเผาถ่าน หรือสุดแท้แต่ความสามารถจะนำพาไป แต่ด้วยชีวิตที่ลำบากมันบีบคั้นให้ต้องเลือกทางเดินที่ผิด ในเมื่อชีวิตมันขับเคลื่อนด้วยเงินแต่หากินบนความสุจริตไม่ก็ต้องขโมยเอา ชาวยิปซีไม่น้อยที่ไม่ได้รับการศึกษาและไม่มีทักษะใด ก็ตั้งกลุ่มเป็นหัวขโมยก่อความเดือดร้อนไปทั่ว หญิงใดที่ยังสาวก็มาทำอาชีพโสเภณี บ้างก็ต้องระเห็ดไปเป็นขอทานตามข้างถนน และมีไม่น้อยที่เร่ร่อนเป็นคนจรจัด


ในส่วนของชื่อเสียงเรื่องการทำนายทายทัก หากเป็นในยุคนั้นอาจจะต้องพูดว่าชื่อเสียมากกว่าค่ะ เพราะตามบันทึกเหตุการณ์ในเมืองโบโลญญาประเทศอิตาลีปี ค.ศ 1422 กล่าวไว้ว่า “ในบรรดานักทำนายชาวยิปซีน้อยคนนักที่จะให้คำปรึกษาโดยไม่ขโมยกระเป๋าสตางค์ของพวกเขา ผู้หญิง 6-8 คนเดินด่อมๆ มองๆ ไปทั่วถึงเวลาก็จะเข้าไปพูดเรื่องไร้สาระไม่ได้ความ หากเราเผลอ หนึ่งในนั้นก็จะขโมยของ” ซึ่งหากชาวยุโรปเห็นชาวยิปซีเดินมาเพื่อจะทำนายทายทักอะไร บางคนถึงกับต้องโยนเอาเศษเงินให้เพื่อไล่ไปไกลๆ ทีเดียว เพราะรู้ว่าพวกเธอจ้องจะเล่นคุณอยู่น่ะสิคะ


ดังนั้นกล่าวได้ว่าการทำนายทายทักของชาวยิปซีก็ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ กลับกันมันเป็นอุบายที่ชาวยิปซีหลายคนใช้สำหรับการขโมยของ และนั่นยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาย่ำแย่ลงไปอีกจึงถูกขับไล่เรื่อยมา ที่สำคัญหากพูดเฉพาะเรื่องการทำนายทายทัก ลองคิดดูว่าในยุคที่คริสตจักรเรืองอำนาจนั้นอะไรที่นอกเหนือจากเส้นทางลิขิตของพระผู้เป็นเจ้าก็จะถูกโจมตีทั้งหมด โดยเฉพาะโหราศาสตร์และการพยากรณ์ มันจึงทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีต พวกปีศาจ ผู้ใช้มนตร์ดำ ทำให้ชาวยิปซีที่นิยมการพยากรณ์ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกน่ากลัวเป็นแม่มดหมอผี ดังนั้นต่อให้ชาวยิปซีจะเข้ามาถึงฝรั่งเศสได้ในปี ค.ศ 1390 สมมุติว่ามันจริง ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถเข้าเฝ้าราชวงศ์ได้ เพราะเป็นที่รังเกียจของบุคคลทั่วไปอย่างมาก และถูกกาหัวกระดาษว่าเป็นพวกหัวขโมยตั้งแต่พบหน้า จึงคาดว่าเป็นเรื่องของตำนานการเล่าต่อๆกันที่คลาดเคลื่อนมาค่ะ แต่กิจวัตรของชาวยิปซีมันก็กลายเป็นภาพจำของชาวยุโรปว่า เป็นกองคาราวานที่ชื่นชอบเรื่องการพยากรณ์และร้องรำทำเพลง แต่งกายสไตล์โบฮีเมียนและสวมใส่เครื่องเงินประหลาดๆ


เกริ่นมายืดยาวขอกลับมาที่คำถาม ไพ่ต้นแบบมาจากชาวยิปซีหรือเปล่า? คำตอบก็คือไม่ค่ะ เพราะว่าเดิมทีพวกเขาไม่ได้ใช้ไพ่เลย หากแต่ดูลายมือหรือใช้ลูกแก้วในการพยากรณ์ บ้างก็บริกรรมคาถาอะไรบางอย่าง แต่อย่างที่เราทราบกัน พวกเขาคือนักผจญภัยเดินทางร่อนแร่ไปทั่วและเห็นวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย การที่จะปักหลักอยู่ที่ใดเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ดังนั้นความจริงก็คือชาวยิปซีต่างหากค่ะที่เปลี่ยนไปใช้ไพ่ในการพยากรณ์เพื่อเบี่ยงเบนข้อครหาว่าเป็นแม่มดหรือพวกเสพมนตร์ดำ!

แล้วพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ได้มีรับสั่งให้จิตรกรวาดไพ่มาถวายสามชุดใช่หรือไม่?

ขอท้าวความชีวประวัติพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 โดยสังเขปเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมามากขึ้นนะคะ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ทรงขึ้นปกครองประเทศฝรั่งเศสเมื่อพระชนมายุได้เพียง 11 ปีในปี ค.ศ 1380 พระองค์มีฉายาว่า “Charles VI the Mad” หรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ผู้บ้าคลั่ง มาจากพระองค์ทรงพระประชวรด้วยอาการทางจิต มีการแสดงอาการของโรคทางจิตเภทให้เห็นอยู่เป็นพักๆ


แต่เป็นความจริงที่ว่าพระองค์โปรดปรานเรื่องราวลึกลับทางไสยศาสตร์ เวทมนตร์ หมอผี โหราศาสตร์ และการเล่นแร่แปรธาตุ ดังนั้นข้าราชบริพารที่คอยรับใช้พระองค์มักมองว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้งมงาย หากแต่ว่าก็ยังไม่มีอะไรเกี่ยวกับการพยากรณ์ไพ่ พระองค์ไม่ได้รับคำพยากรณ์ด้วยไพ่แต่อย่างใด อย่างที่ดรีมได้อธิบายไปตอนต้นว่า ค.ศ 1392 ยังเร็วไปมากที่ไพ่จะถูกเผยแพร่ความนิยมเข้าสู่ฝรั่งเศส และกว่าจะพัฒนาไปสู่การพยากรณ์ก็อีกก็เกือบ 300 กว่าปีทีเดียว


ประกอบกับอาการประชวรด้วยโรคจิตเภทของประองค์ปรากฏให้เห็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ 1392 ซึ่งในขณะนั้นพระองค์เกิดคลุ้มคลั่ง มีการทำร้ายข้าราชบริพารของพระองค์เองจนถึงแก่ชีวิต พระองค์ไม่สามารถที่จะประคองสติและแสดงความเป็นผู้นำในการบริหารบ้านเมืองได้ ดังนั้นพระองค์จึงมักมีความขัดแย้งกับผู้อื่นอยู่เสมอ อาการของพระองค์จากนี้จะมีแต่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งพระองค์เลอะเลือนจำตนเองและจำใครไม่ได้เลย วันดีคืนดีก็คุ้มคลั่งคิดว่าตนเองเป็นหมาป่าวิ่งไล่ข้าราชบริพารเห่าหอนไปทั่วปราสาท จนกระทั่งพระองค์ทรงหลงคิดว่าตนเองเป็นแก้วและร่างกายจะแตกสลายไป จึงทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดเกราะตลอดเวลาบ้างก็ว่าพระองค์รับสั่งให้เย็บท่อนเหล็กให้ติดกับเสื้อผ้า เพราะกลัวว่าหากมีคนมาโดนตัวพระองค์ร่างกายจะแตกเป็นเสี่ยง อาการของพระองค์ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ถึงขนาดไม่ยอมสรงน้ำหรือเป็นฉลองพระองค์ติดต่อกันหลายเดือน อาการวิกลจริตของพระองค์ไม่มีผู้ใดสามารถรักษาหายได้จนกระทั่งพระองค์สวรรคต


หากสังเกตุปีที่พระองค์ทรงเริ่มแสดงพระอาการประชวร ก็เป็นปีเดียวกับตำนานที่อ้างว่าพระองค์มีรับสั่งให้จิตรกรนามว่า Jaquemin Gringonneur วาดไพ่เพื่อถวายพระองค์ ซึ่งความจริงแล้วในสมุดบัญชีของพระองค์มีบันทึกเรื่องการว่าจ้างจิตรกรคนดังกล่าวจริง หากแต่พระองค์ไม่ใช่ผู้ว่าจ้างโดยตรง แต่เป็นคนในที่รับหน้าที่ดูแลพระองค์เป็นผู้ว่าจ้างให้วาดการ์ดจำนวน 3 ใบ โดยให้ปิดแผ่นทองและลงสี พร้อมทั้งตกแต่งให้มีความสวยงามหลากหลาย เพื่อนำมาถวายเป็นความบันเทิงแก่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ที่กำลังประชวร เพราะราชวงศ์ฝรั่งเศสในขณะนั้นไม่อาจยอมรับได้ที่พระราชาจะวิกลจริต เนื่องจากอยู่ในช่วงทำศึกสงคราม 100 ปีระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ จะให้มีชื่อเสียแก่ราชวงศ์ไม่ได้ ไม่มีใครยอมรับว่าพระราชามีอาการของโรคจิตเภท บอกแต่เพียงว่าพระองค์ทรงเครียดเพราะความบีบคั้นต่างๆ ดังนั้นการ์ดดังกล่าวจึงสร้างขึ้นเพื่อต้องการให้พระองค์ผ่อนคลาย แต่นั้นไม่ใช่ไพ่สำรับ Charles VI ในตำนานที่เราเห็นกัน


อย่างไรก็ตามการ์ดที่ถูกวาดโดย Jaquemin Gringonneur ที่มอบให้กับพระองค์ ก็ยังไม่ได้มีการถูกค้นพบนะคะ เราจึงไม่ทราบว่าหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่สำรับที่เราเข้าใจผิดกันอยู่ ก็ถูกเรียกด้วยความคุ้นปากต่อๆกันมาว่าสำรับ “Gringonneur” หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ “Charles VI” มาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ

ซึ่งไพ่สำรับดังกล่าวคาดว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นหลังสำรับ Visconti-Sforza หรือราวๆ ศตวรรษที่ 15 นักประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์พิจารณาจากภาพศิลปะบนไพ่ ดูจะเป็นเรื่องราวในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) และมีภาพที่เกี่ยวข้องกับตระกูลหรือกิจกรรมที่กระทำในยุคสมัยนั้น และที่สำคัญศิลปะบนหน้าไพ่ออกทางศิลปะแนว Renaissance ซึ่งมักพบได้มากในไพ่เมืองฟลอเรนท์ประเทศอิตาลี


ส่วนความเข้าใจผิดน่าจะมาจากบันทึกของ “Martin Lister” เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงไพ่ Charles VI เพราะในขณะนั้นไพ่สำรับนี้อยู่ในการดูแลของ “Roger de Gaignières”  นักสะสมของโบราณที่มีชื่อเสียง ในบันทึกของ Martin Lister กล่าวว่า “ของเล่นชิ้นหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็น มันเป็นคอลเลคชั่นไพ่ที่มีอายุราวๆ 300 ปี เป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุด ขนาดของมันใหญ่กว่าไพ่ในยุคปัจจุบันถึง 3 เท่า แต่สภาพยังสมบูรณ์ และมันสว่างไสวด้วยขอบสีทอง แต่กระดาษมีความแข็งดูหนาแน่น แต่ว่ามันมีไม่ครบชุด” จึงทำให้มีการเชื่อมโยงกันกับการ์ดที่ถูกวาดโดย Jaquemin Gringonneur ที่ได้ถวายให้กับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 และอาจจะถูกแต่งเสริมเติมแต่งเข้ากับตำนานของหญิงชาวยิปซีเข้าให้อีก และเข้าใจผิดกันเรื่อยมา จนมีการขุดค้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ถึงได้เข้าใจกันว่าอะไรเป็นอะไรค่ะ


ภายหลังจากที่ Roger de Gaignières  เสียชีวิตเมื่อปี 1714 ข้าวของก็ถูกโยกย้ายไปเก็บไว้ที่อื่น ก่อนที่ในปัจจุบันจะจัดแสดงอยู่ที่ “Bibliothèque nationale” หรือหอสมุดแห่งชาติที่ประเทศฝรั่งเศสค่ะ จากข้อมูลในปัจจุบันนักวิชาการเห็นสมควรว่าควรเรียกไพ่สำรับนี้ว่า "Gaignières Tarot" เพื่อจะได้ไม่สร้างความเข้าใจผิด และสร้างความแตกต่างกับการ์ดที่วาดโดย Jaquemin Gringonneur


ไพ่ทาโรต์เป็นอะไรกับไพ่ยิปซี

ไม่ได้เป็นอะไรกันเลยค่ะเพราะไพ่ยิปซีไม่มีจริง หากจะพูดให้ถูกก็คือเป็นความเข้าใจผิด มากกว่าค่ะ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนจะเข้าใจอะไรผิดๆ กันอยู่เรื่อยๆ เพราะด้วยความที่ข้อมูลในยุคสมัยนั้น ไม่ได้ค้นหาได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิกเหมือนยุคสมัยนี้ ดังนั้นสมมุติฐานที่ว่าไพ่ทาโรต์มาจากชาวยิปซีได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 มากเลยล่ะค่ะ ก่อนที่จะตีตกไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งในอนาคตหากมีการค้นพบอะไรใหม่ๆ เราก็อาจจะต้องมารื้อความเข้าใจและเปิดรับสิ่งใหม่ๆอีกครั้งได้เช่นกัน


            แต่ความเข้าใจผิดนั้นมันเริ่มจากความสนใจในประวัติศาสตร์ของชาวยิปซีของ “JA Vaillant” ดังนั้นเขาจึงเขียนหนังสือที่ชื่อว่า “Les Romes: Histoire Vraie Des Vrais Bohemiens” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1857 ซึ่งเป็นเล่มแรกที่พูดถึงไพ่ทาโรต์ว่ามีต้นกำเนิดมาจากชาวยิปซีตามทฤษฎีของเขา ต่อมาในปี ค.ศ 1889 ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไสยศาสตร์นามว่า “Papus”  ก็ออกหนังสือต่อยอดแนวคิดนั้นด้วยเนื้อหาที่นำเสนอความเชื่อความเข้าใจถึงตำนานของไพ่ทาโรต์และชาวยิปซี ก่อนที่มันจะถูกแปลในชื่อ “The Tarot of the Bohemians” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1958 เรียบเรียงและแปลโดย A.E Waite อีกที


คงเหมือนการโยนหินลงในบ่อแล้วเกิดคลื่นน้ำต่อเนื่องหลายระลอก หนังสือเหล่านี้ได้รับความสนใจจากเหล่าผู้ที่ชื่นชอบเรื่องศาสตร์ลี้ลับจำนวนมาก มันจึงเป็นเหมือนการส่งต่อความเชื่อและสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดอย่างมหาศาล ด้วยเพราะชาวยุโรปสมัยนั้นต่างก็เชื่อกันมาก่อนอยู่แล้วว่าชาวยิปซีมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอียิปต์ ประกอบไพ่ทาโรต์มีดีไซน์และการสื่อความหมายไปในทางอารยธรรมไอย์คุปต์ ดังนั้นการเชื่อมโยงกันว่าชาวยิปซีร่อนเร่พเนจรมาจากอียิปต์ แถมมีพฤติกรรมชอบทำนายทายทัก ก็น่าจะนำเอาวัฒนธรรมการทำนายด้วยไพ่ทาโรต์มาเผยแพร่ด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นการเข้าใจผิดแบบ Inception จนเลยเถิดเป็นความเชื่อฝังหัวว่ายังไงไพ่ทาโรต์ก็ต้องมาจากชาวยิปซีแน่นอน ซึ่งอย่างที่เคยกล่าวถึงไปจริงๆ แล้วชาวยิปซีไม่ได้ใช้ไพ่ทาโรต์ แต่ใช้การดูลายมือ ลูกแก้ว หรือการบริกรรมคาถาอะไรบางอย่าง ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ไพ่ในภายหลังเพราะรับเอาวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมา พวกเขาต้องการทำตัวให้กลมกลืนและหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าเป็นพวกแม่มด ที่สำคัญไพ่ที่ชาวยิปซีใช้ในการพยากรณ์ก็ใช้แค่ไพ่ชุดเล็กเท่านั้น ไม่ได้ใช้ไพ่ทั้ง 78 ใบในการทำนายค่ะ


ดังนั้นเมื่อไพ่ทาโรต์ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศไทย แต่เราแค่ไปรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อของเขามา เขาว่าอย่างไรเราก็ต้องว่าตามจะไปขัดคอต้นฉบับก็คงไม่ได้ ชุดข้อมูลนั้นจึงถูกส่งต่อมายังประเทศไทยด้วยค่ะ เราก็เลยเข้าใจกันว่าไพ่ทาโรต์มาจากชาวยิปซี อาจารย์ “ขุนทอง ณ อยุธยา” เป็นคนแรกๆ ที่ริ่เริ่มเผยแพร่การพยากรณ์และเขียนหนังสือคู่มือประกอบการอ่านไพ่ทาโรต์ในประเทศไทย อาจารย์ต้องการใช้ชื่อเรียกให้เข้าปากคนไทย เพื่อให้ง่ายต่อการเป็นที่จดจำและการทำการตลาด รวมไปถึงให้เหมาะสมกับสไตล์ของอาจารย์เองด้วย จึงเรียกว่าไพ่ยิปซีแทนไพ่ทาโรต์ และกลายเป็นชื่อคุ้นปากของคนไทยไปจริงๆ จุดเริ่มต้นของไพ่ยิปซีก็เป็นเช่นนี้แล และคงมีแค่ที่ประเทศไทยนะคะที่เรียกว่าไพ่ยิปซี ต่างประเทศไม่ได้ยังเรียกไพ่ทาโรต์เหมือนเดิมค่ะ ส่วนใครจะเรียกแบบไหนก็เอาตามความถนัดได้เลยนะคะ ถ้าพูดกันแบบติดตลก ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ขุนทองอย่างน้อยเรียกไพ่ยิปซีก็คงเรียกง่ายกว่าไพ่โบฮีเมียนนะคะ 55555


ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความในทุกกรณี กรุณาแชร์บทความเพื่อลิงค์กลับมาที่เว็บไซต์ต้นทางค่ะ

อ้างอิง

https://tarot-heritage.com/links/

https://wiki.deldebbio.com.br/index.php?title=Tarot_de_Gringonneur

https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/roma-gypsies-in-prewar-europe

https://en.wikipedia.org/wiki/Romani_people

Comments


bottom of page